นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว บริษัทตั้งเป้ามีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) จากธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน (Green Business) มีสัดส่วนมากกว่า 50% ภายในปี 68 จากช่วงครึ่งแรกปี 64 ที่มีสัดส่วน 43% ตามแผนขยายการลงทุน ได้แก่ ธุรกิจก๊าซ โรงไฟฟ้าก๊าซ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable) และ ธุรกิจ Energy Technology ตามแผนการลงทุนในช่วง 5 ปี (ปี 64-68) ที่เป็นไปตามแนวโน้มการใช้พลังงานของโลก
บริษัทเตรียมเงิน 4.5 หมื่นล้านบาทไว้รองรับการลงทุนดังกล่าว โดยมาจากการเพิ่มทุน จำนวน 2.9 หมื่นล้านบาท เป็นการขายเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนกว่า 8.5 พันล้านบาทในเดือน ก.ย.64 จากนั้นจะมีเงินจากการใช้สิทธิแปลง BANPU-W4 ราว 8.5 พันล้านบาทในปี 65 และใช้สิทธิแปลง BANPU-W5 ราว 1.2 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้บริษัทเพิ่งออกหุ้นกู้อีก 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งบางส่วนนำไปใช้หนี้เดิม
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU กล่าวว่า หากในอนาคตมีการลงทุนเพิ่มเติม บริษัทยังมีความสามารถสร้างกระแสเงินสดทั้งจากธุรกิจเดิม และหาเงินกู้เพิ่มเติมหรือออกหุ้นกู้เพื่อนำไปลงทุนต่อเนื่อง
ส่วนธุรกิจเดิม คือ ธุรกิจเหมืองถ่านหิน วางทิศทางให้เติบโตได้ด้วยตัวเอง โดยจะใช้กระแสเงินสดของธุรกิจถ่านหินในการขยายงานโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้ ภายใต้คาดการณ์ว่าในปี 83 ความต้องการถ่านหินจะไม่ได้ลดลงมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ดังนั้น บริษัทจะยังคงดำเนินธุรกิจถ่านหินต่อไป และการทำเหมืองถ่านหินจะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 68 บริษัทคาดว่า EBITDA จากธุรกิจถ่านหินจะมีสัดส่วน 40% ธุรกิจก๊าซ 25% ธุรกิจโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน 30% และ ธุรกิจ Energy Technology 5% จากงวดครึ่งแรกปี 64 มี EBITDA ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจถ่านหินในสัดส่วน 57% ธุรกิจก๊าซ 31% และธุรกิจโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน 12%
นางสมฤดี กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บ้านปูยังคงเร่งสร้างการเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจ (Banpu Transformation) อย่างต่อเนื่องภายใต้กลยุทธ์ Greener & Smarter โดยประสบความสำเร็จในการลงทุนขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานที่สะอาดมากขึ้น รวมทั้งยังสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันที ขณะเดียวกันยังศึกษาความเป็นไปได้ในธุรกิจเหมือง Green Tech Minerals ทั้งในออสเตรเลียและอินโดนีเซีย เพื่อส่งเสริมและต่อยอดของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน รวมทั้งยังศึกษาการลงทุนในโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant) และ Data Center ซึ่งมีศักยภาพการเติบโตสูงและสามารถเสริมระบบนิเวศทางธุรกิจของกลุ่มบ้านปู หรือ Banpu Ecosystem ให้ครบวงจรยิ่งขึ้น
สำหรับในช่วงครึ่งแรกปี 64 BANPU มีผลประกอบการที่ดีทั้งธุรกิจถ่านหิน ธุรกจก๊าซ และธุรกิจไฟฟ้าสามารถสร้างกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่อง โดยมี EBITDA อยู่ที่ 582 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 17,948 ล้านบาท
ธุรกิจเหมืองถ่านหิน มีผลประกอบการที่ดีจากราคาขายเฉลี่ยที่ปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับแนวโน้มราคาถ่านหินในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการใช้พลังงานจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศ ในขณะที่ผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่หลายรายเผชิญความท้าทายในการผลิตถ่านหินออกสู่ตลาด โดยธุรกิจเหมืองมี EBITDA ในครึ่งปีแรก 331 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 10,228 ล้านบาท โดยคาดว่าในไตรมาส 3/64 ราคาน่าจะสูงขึ้นจากดีมานด์ซัพพลายค่อนข้างตึงตัว
ด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ ราคาขายเฉลี่ยสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลจากความต้องการที่สูงขึ้นจากภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ประกอบกับการเริ่มฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมจากช่วงปีที่ผ่านมา โดยธุรกิจก๊าซธรรมชาติมี EBITDA ครึ่งปีแรก 178 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 5,463 ล้านบาท โดยคาดว่าในครึ่งปีหลังราคาก๊าซจะปรับตัวขึ้นมาที่ 4 เหรียญสหรัฐ/ลบ.ฟุต จากครึ่งปีแรกเฉลี่ยที่ 2.76 เหรียญสหรัฐ/ลบ.ฟุต เนื่องจากแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นขณะที่ซัพพลายคงที่
ส่วนของกลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน (Energy Generation) ยังคงสามารถสร้างรายได้ที่ดีสม่ำเสมอ โดยเฉพาะจากโรงไฟฟ้าเอชพีซีใน สปป.ลาว ที่สามารถผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าด้วยค่าความพร้อมจ่าย (EAF) ที่สูงขึ้น ด้านโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี จังหวัดระยอง ปิดซ่อมบำรุงเหตุท่อรั่ว (tube leak) แต่ยังสามารถรักษาระดับ EAF สูง ส่วนโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined Heat and Power: CHP) ในจีนมีผลกำไรลดลงจากความต้องการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำที่ชะลอตัวลงจากลูกค้าบางกลุ่ม และผลกระทบจากต้นทุนถ่านหินในประเทศที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (Shanxi Lu Guang: SLG) ในจีนเตรียมความพร้อมเปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในไตรมาส 3/64
ด้านธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจีน มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยทำให้มีความเข้มของแสงที่สูงขึ้น และมีอัตราความสามารถในการผลิตไฟฟ้า (Capacity Factor) สูงขึ้นเช่นเดียวกัน ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น มีปริมาณการผลิตไฟฟ้าและ Capacity Factor เพิ่มขึ้นเช่นกัน ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม Vinh Chau ระยะที่ 1 ในเวียดนาม มีรายงานความคืบหน้าในการก่อสร้างที่ร้อยละ 68 และคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 4/64 ทั้งนี้ ในครึ่งปีแรกบริษัทฯ มี EBITDA 77 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 2,370 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการต่อยอดกลยุทธ์ Greener & Smarter จากการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าใหม่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โรงไฟฟ้า Nakoso IGCC ในญี่ปุ่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Beryl และ Manildra ในออสเตรเลีย และล่าสุดได้เข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ CCGT "Temple I" ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ถือเป็นการก้าวสู่ตลาดซื้อขายไฟฟ้าที่เปิดเสรีและมีความก้าวหน้าอย่างมาก
กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology) ยังคงเร่งเดินหน้าสร้างความเติบโต โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณท์และบริการเพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจของกลุ่มบ้านปู (Banpu Ecosystem) ให้แข็งแกร่ง โครงการที่สำคัญ ได้แก่ การก่อสร้างโครงการโซลาร์ลอยน้ำขนาด 16 เมกะวัตต์ ที่นิคมหลักชัยเมืองยาง คืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 60 ในขณะที่ธุรกิจติดตั้งโซลาร์บนหลังคา ขยายฐานลูกค้าสู่กลุ่มธุรกิจขนาดกลางมากขึ้น
นอกจากนี้ ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าในญี่ปุ่นทำสัญญาระยะเวลา 1 ปีเพิ่มเติมกว่า 10 ฉบับ จากลูกค้ารายใหม่จำนวน 6 ราย ประกอบด้วย โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และสถาบันแห่งชาติต่าง ๆ คิดเป็นปริมาณผลิตไฟฟ้า 111 กิกะวัตต์ชั่วโมง