นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สิงห์ เอสเตท (S) กล่าวว่า ช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา ธุรกิจที่พักอาศัยเผชิญกับความท้าทายสำคัญจากรายได้ของ NVD ที่หายไปตั้งแต่ต้นปี 64 ซึ่งที่ผ่านมารายได้จาก NVD คิดเป็นประมาณกึ่งหนึ่งของรายได้รวมของธุรกิจนี้ อย่างไรก็ดี สัญญาณฟื้นตัวที่น่าพอใจของโครงการคอนโดมิเนียมสะท้อนผ่านมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ในไตรมาสที่ 2/64 ที่สูงสุดในรอบ 3 ไตรมาสที่ผ่านมา กอปรกับการรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องจาก โครงการ สันติบุรี เดอะ เรสซิเดนเซส ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจที่พักอาศัยลดลงเพียงร้อยละ 17
ในส่วนของธุรกิจอาคารสำนักงาน สิงห์ เอสเตท สามารถต่อสัญญากับผู้เช่าเดิมได้อย่างต่อเนื่องและปล่อยเช่าพื้นที่เพิ่มเติมได้กว่า 2,100 ตารางเมตร ส่งผลให้อัตราปล่อยเช่าเฉลี่ยโดยรวมแตะระดับ 88% ในช่วงครึ่งแรกของปี 64
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงปี 64 ยังคงกดดันผลประกอบการธุรกิจโรงแรมในภาพรวม โดยโรงแรม 6 แห่งจาก 38 แห่งกลับมาปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อีกครั้ง และอาจเป็นไปได้ที่บางแห่งจะปิดต่อไปถึงสิ้นปีนี้หากสถานการณ์โดยรวมยังไม่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งแรกของปี ธุรกิจโรงแรมกลับสร้างรายได้เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 17 สาเหตุสำคัญจากการเข้าเพิ่มสัดส่วนเงินลงทุนจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายเดียวใน FS JV ซึ่งประกอบธุรกิจโรงแรมในสหราชอาณาจักร ภายใต้แฟรนไชส์แบรนด์ Mercure ในช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมา
การเปิดให้เดินทางภายในประเทศได้ตั้งแต่เดือนพ.ค. 64 และฐานลูกค้าหลักของ FS JV เป็นนักท่องเที่ยวในประเทศ หนุนให้ผลประกอบการของโรงแรมในสหราชอาณาจักรฟื้นตัวต่อเนื่องตามที่บริษัทคาดการณ์ไว้ โดยอัตราการเข้าพักในเดือนมิ.ย. 64 อยู่ที่ 50% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 16 เดือน และรายได้ของธุรกิจโรงแรมกว่า 41% มาจากพอร์ตโรงแรมในสหราชอาณาจักร
"การที่โรงแรมในสหราชอาณาจักรขึ้นแท่นแหล่งรายได้หลัก ผลักดันให้รายได้กลุ่มโรงแรมพลิกกลับมาเติบโตครั้งแรกตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด ตอกย้ำว่าการลงทุนเพิ่มเติมใน FS JV เป็นการลงทุนที่เหมาะสมทั้งในด้านทรัพย์สิน และเงื่อนเวลา นอกจากนี้บริษัทเชื่อมั่นว่าผลประกอบการโรงแรมโรงแรมในสหราชอาณาจักรทั้งในส่วนของอัตราการเข้าพัก (Occupancy) และรายได้ห้องพักเฉลี่ยของห้องพัก (Average Daily Rate, ADR) จะฟื้นตัวอย่างโดดเด่นยิ่งขึ้นในครึ่งหลังของปี 64 จากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับภาครัฐบาลได้ประกาศยกเลิกข้อจำกัดในการเดินทางทั้งหมดในวันที่ 19 ก.ค. 64" นางฐิติมากล่าว
การควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการขายที่ลดลง 40% กอปรกับการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า 177 ล้านบาท จากการส่งมอบห้องชุดโครงการ ดิ เอส สุขุมวิท 36 สามารถชดเชยผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ สิงห์ เอสเตท รายงานผลขาดทุนสุทธิเพียง 26 ล้านบาท หรือขาดทุนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 92%
สำหรับครึ่งปีหลังของปีนี้พัฒนาการที่สำคัญของบริษัทคงจะหนีไม่พ้นการเติมพอร์ตที่อยู่อาศัยแนวราบภายใต้การบริหารของ สิงห์ เอสเตท เข้ามาเพื่อต่อยอดธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และด้วยสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง อัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อทุนสุทธิ ต่ำเพียง 1.14 เท่า มีส่วนสำคัญในการเอื้อให้บริษัทลงทุนต่อเนื่องเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นและส่งเสริมให้ S เติบโตอย่างมั่นคงต่อไปในระยะยาว