โดยเฉพาะสองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลกอย่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐอเมริกาที่สามารถฟื้นตัวได้ก่อนประเทศอื่น ๆ เห็นชัดจากตัวเลขจีดีพี ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2564 ที่ขยายตัว 7.9% และ 6.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามลำดับ ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมาคาดการณ์ว่า ตัวเลขจีดีพี ในปี 2564 ของจีนและสหรัฐฯ อาจเติบโตประมาณ 7% และ 8.4% ตามลำดับ หลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาอยู่ในระดับปกติ จากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้น
จากมุมมองดังกล่าว รายงาน BLS Top Funds แนะนำผู้ลงทุนให้น้ำหนักการลงทุนใน "กองทุนหุ้นจีน" และ "กองทุนหุ้นสหรัฐ" เน้นกองทุนรวมคุณภาพดีที่ลงทุนในบริษัทที่มีรายได้และกำไรแน่นอนเป็นหลัก และกระจายการลงทุนในหุ้นบริษัทชั้นนำที่มีอัตราการเติบโตสูง ประกอบด้วย 1. กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นจีน (B-CHINE-EQ) ที่มีการบริหารจัดการพอร์ตแบบยืดหยุ่น โดยสัดส่วน 80% ลงทุนหุ้นของบริษัทจีนที่จดทะเบียนในทุกตลาด เช่น A-Share และ H-Share เป็นต้น ซึ่งผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา สามารถบริหารจัดการได้ดีอยู่ในอันดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม จากการบริหารพอร์ตแบบเชิงรุก (Active)
"ตลาดหุ้นจีนที่มีการปรับฐานในช่วงที่ผ่านมา บวกกับแนวโน้มเศรษฐกิจระยะยาวที่อาจเติบโตต่อเนื่อง ถือเป็นโอกาสดีในการทยอยสะสมกองทุนหุ้นจีน โดยเฉพาะกอง B-CHINE-EQ เพราะกองนี้มีนโยบายกระจายการลงทุนไปในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ได้โฟกัสเพียงกลุ่มเทคโนโลยีจีนอย่างเดียว ฉะนั้นกองทุนนี้จะไม่ได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลจีนเข้ามาควบคุมวงการเทคโนโลยีมากนัก ทั้งนี้กองทุนดังกล่าวมีให้ลงทุนในรูปแบบลดหย่อนภาษีอย่าง กองทุน B-CHINAARFM ซึ่งเป็นกอง RMF เน้นลงทุนหุ้นจีน A-Share และ กอง B-CHINESSF ที่ลงทุนในหุ้นจีนทั่วโลก" นายเสริมศักดิ์ กล่าว
2.กองทุนรวมเปิดบัวหลวงโกลบอลอินโนเวชั่นและเทคโนโลยี (B-INNOTECH) และ กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลอินโนเวชั่นและเทคโนโลยีเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-INNOTECHRMF) เน้นลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของสหรัฐฯอย่าง "กลุ่ม FAANG" ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ของสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย Facebook (FB), Amazon (AMZN), Apple (AAPL), Netflix (NFLX) และ Alphabet (GOOG) โดยบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำเหล่านี้มีพื้นฐานแข็งแกร่งเติบโตล้อไปกับเมกะเทรนด์ของโลก แม้ความคาดหวังการเติบโตไม่สูงเท่ากับบริษัทเทคฯขนาดเล็ก แต่การที่เป็นบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ย่อมมีความได้เปรียบด้านการแข่งขัน รวมถึงมีความแน่นอนของรายได้และกำไรที่มากกว่า และในยุคนี้เทคโนโลยีถือเป็นสิ่งจำเป็นมาก ที่สำคัญในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองกองทุนสร้างผลตอบแทนได้แล้วประมาณ 47% ในขณะความผันผวนต่ำ เมื่อเทียบกับกองเทคฯ อื่น ๆ
ในช่วงนี้ถือเป็นจังหวะดี ในการเริ่มต้นวางแผนภาษีประหยัดภาษี ด้วยการทยอยสะสมกองทุนคุณภาพที่มีการดำเนินงานดี โดยผู้ลงทุนสามารถเลือกออมกองทุนรวม เพื่อนำไปลดหย่อนภาษีได้ 2 รูปแบบ คือ 1.กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) เหมาะกับคนอายุน้อยและต้องการออมเงินระยะยาว ไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี ไม่มีขั้นต่ำในการลงทุน ซื้อปีไหนลดหย่อนปีนั้น แต่ต้องถือครองไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ ซึ่งสามารถนำไปลดภาษีเงินได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ต้องไม่เกิน 2 แสนบาท เมื่อรวมกับการออมเพื่อเกษียณอื่น ๆ ต้อง ไม่เกิน 5 แสนบาท 2. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เหมาะกับผู้ที่ต้องการออมเงินระยะยาวไว้ใช้จ่ายยามเกษียณอายุ ไม่มีขั้นต่ำในการลงทุน แต่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี เว้นได้ไม่เกิน 1ปี ผู้ลงทุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีสูงสุด 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และเมื่อรวมกับการออมเพื่อเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท
"ผู้ที่มีอายุยังไม่ถึง 45 ปี แนะนำให้ลงทุนกองทุน SSF ให้เต็มที่ก่อน จากนั้นค่อยลงทุนเพิ่มในส่วนของกองทุน RMF เพราะไม่ต้องรอจนถึงอายุ 55 ปี ส่วนผู้ที่อายุเกินกว่า 45 ปี ให้ลงทุนกองทุน RMF ให้เต็มที่ เนื่องจากไม่ต้องถือถึง 10 ปี โดยเมื่ออายุ 55 ปี และมีการลงทุนต่อเนื่องจนครบเงื่อนไข ก็จะสามารถขายได้ทุกกองที่ลงทุนมา" นายเสริมศักดิ์ กล่าว