RBF เผย H2/64 รับอานิสงส์กลุ่มส่งออก,ขายโรงแรมช่วยลดแรงกดดันจากต้นทุนสูงขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 19, 2021 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.ท.พญ.จัณจิดา รัตนภูมิภิญโญ กรรมการบริษัท บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) เปิดเผยว่า แนวโน้มยอดขายในช่วงครึ่งปีหลัง 64 ยังมีทิศทางสูงขึ้นกว่าครึ่งปีแรกที่มียอดขายเติบโต 9.7% จากแนวโน้มของยอดออเดอร์สั่งซื้อส่วนประกอบอาหารและเครื่องดื่มของกลุ่มลูกค้ายังมีเข้ามามาก โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าส่งออก หลังจากเศรษฐกิจในต่างประเทศฟื้นตัวมาเติบโตขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐฯและยุโรป ที่ยังคงเปิดประเทศ และไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้ามากนัก

ขณะที่กลุ่มลูกค้าในประเทศยังมีออเดอร์เข้ามาต่อเนื่องเช่นเดียวกัน แต่อาจจะเห็นการชะลอตัวลงบ้างเล็กน้อย เนื่องจากภาพรวมการบริโภคในประเทศชะลอตัว แต่ยังมีการสั่งออเดอร์เข้ามาเพื่อรองรับการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปขายต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น บริษัทจึงยังมั่นใจว่ารายได้ในปี 64 จะยังคงเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 10-15%

ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มกัญชง ปัจจุบันบริษัทได้มีการเจรจากับลูกค้าหลายรายที่สนใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ส่วนผสมของกัญชงออกมาจำหน่าย ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าอยู่ระหว่างการยื่นขอใบอนุญาตพัฒนาและผลิตสินค้า จึงคาดว่าจะเห็นรายได้ที่มาจากกลุ่มธุรกิจกัญชงเข้ามาในช่วงปลายปี 64 เป็นต้นไป และจะชัดเจนมากขึ้นในปี 65 หลังจากที่เริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์และผลิตออกมาจำหน่ายได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพรวมของยอดขายจะมีการเติบโตขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ยังมีปัจจัยกดดันอัตรากำไร (มาร์จิ้น) ของบริษัทที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อภาพรวมความสามารถในการทำกำไรในปี 64 คือ ราคาต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งบริษัทมองว่าเป็นปัจจัยที่สร้างความท้าทายในปีนี้ โดยที่บริษัทได้บริหารจัดการกับซัพพลายเออร์เพื่อล็อกราคาต้นทุนวัตถุดิบ ซึ่งสามารถทำได้ในบางซัพพลายเออร์ พร้อมกับพยายามควบคุมต้นทุนการขนส่งเพื่อไม่ให้กระทบมาก

แต่ทั้งนี้เชื่อว่าปัจจัยกดดันความสามารถการทำกำไรจะเป็นแค่ภาวะชั่วคราว และจะเริ่มเห็นการคลี่คลายลงของราคาต้นทุนวัตถุดิบ รวมถึงต้นทุนการขนส่งในปี 65 ซึ่งจะส่งผลให้มาร์จิ้นของบริษัทฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง

นายสุรนาถ กิตติรัตนเดช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน RBF กล่าวว่า แม้ว่ามาร์จิ้นของบริษัทจะได้รับแรงกดดันจากราคาต้นทุนวัตถุดิบและอัตราค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นสูง แต่มีปัจจัยหนุนกำไรสุทธิของบริษัทจากการที่ไม่ต้องบันทึกผลขาดทุนของธุรกิจโรงแรมที่เคยมีเฉลี่ยไตรมาสละ 15-18 ล้านบาท หลังจากได้ตัดจำหน่ายออกไปในไตรมาส 2/64 ช่วยให้แรงกดดันของกำไรในครึ่งปีหลังนี้ลดลงไปค่อนข้างมาก

สำหรับการลงทุนในการขยายตลาดในอาเซียนนั้น บริษัทยังคงเน้นการขยายในกลุ่มประเทศอินโดนีเซีย และเวียดนามเป็นหลัก โดยที่ในตลาดอินโดนีเซีย เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ และโรงงานในเฟสแรกใช้กำลังการผลิตเต็มแล้ว ทำให้บริษัทเตรียมลงทุนก่อสร้างโรงงานเฟส 2 ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมชำระค่าที่ดิน และออกแบบ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 65 และเริ่มผลิตในปี 66 ใช้เงินลงทุนราว 200-250 ล้านบาทที่เหลือจากการเสนอขายหุ้น IPO


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ