สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนมาเลเซีย และสิงคโปร์ ประกาศรองรับฟิลิปปินส์เข้าเป็นภาคีภายใต้กรอบความร่วมมือ ASEAN Collective Investment Schemes (ASEAN CIS) ซึ่ง ก.ล.ต. ไทยเป็นประธานคณะทำงาน พร้อมทั้งการอนุญาตการเสนอขายกองทุนรวมแก่ผู้ลงทุนทั่วไประหว่าง 4 ประเทศ ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป
หน่วยงานกำกับดูแลทั้ง 4 แห่ง จะใช้มาตรฐานกลางในการพิจารณาคุณสมบัติของกองทุนรวมที่จะอนุญาตให้มีการเสนอขายข้ามประเทศ และคุณสมบัติของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่จะจัดตั้งกองทุนรวม ภายใต้กรอบความร่วมมือ ASEAN CIS ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนในกระบวนการขออนุญาตเสนอขายกองทุนรวมแบบข้ามประเทศ นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ บลจ. มีช่องทางตรงที่มีประสิทธิภาพในการเสนอขายหน่วยลงทุนระหว่างกัน และยังเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุนในประเทศสมาชิกมากขึ้นโดยมีกลไกในการคุ้มครองผู้ลงทุนในระดับที่เหมาะสม
ทั้งนี้ กลไกในการเสนอขายกองทุนรวมระหว่างกันที่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วนั้น เป็นผลสืบเนื่องจากการร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลทั้ง 4 แห่ง ที่ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับเพิ่มเติมว่าด้วยกรอบข้อตกลงเพื่อเสนอขายกองทุนรวมภายใต้โครงการจัดการลงทุนต่างประเทศของกลุ่มประเทศอาเซียน เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 เพื่อรับฟิลิปปินส์เข้าเป็นภาคีภายใต้กรอบความร่วมมือ ASEAN CIS จากเดิมที่มี 3 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย โดยหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนฟิลิปปินส์ ในฐานะสมาชิกใหม่ภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว ได้ออกหลักเกณฑ์ภายในประเทศเพื่อรองรับการเสนอขายกองทุนรวมแล้วเสร็จ โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป
การเสนอขายกองทุนรวมภายใต้กรอบความร่วมมือ ASEAN CIS เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2015 เพื่อเชื่อมโยงตลาดทุนและเอื้ออำนวยให้เกิดการเสนอขายหลักทรัพย์ข้ามประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพตลาดทุนไทยและตลาดทุนอาเซียนให้เทียบเท่าสากล นอกจากนี้ การรับฟิลิปปินส์เข้าเป็นภาคีภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของความสำเร็จในการยกระดับการเชื่อมโยงตลาดทุนและการกระจายเม็ดเงินลงทุนในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังเป็นการช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ตามวิสัยทัศน์ของ ACMF 2025