บมจ. ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/64 บริษัทบันทึกรายได้รวม 10,939 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.28% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 8,594 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการขาย 10,319 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.36% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ 7,977 ล้านบาท ขณะที่กำไรอยู่ที่ 2,145 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 112.03% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ 1,011 ล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 64 บริษัทมีรายได้รวม 20,614 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.22% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 18,206 ล้านบาท และมีกำไรเท่ากับ 3,625 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 112.89% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 1,703 ล้านบาท
ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้เผชิญกับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ด้วยลักษณะทางธุรกิจที่หลากหลาย ประกอบด้วยธุรกิจสินค้าวัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมี พลังงาน และเกษตร ส่งผลให้กลุ่ม TPIPL สามารถทำกำไร และเพิ่มกระแสเงินสดได้อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมุ่งเน้นการพัฒนา ระบบ ESG และ BCG ตามมาตรฐานนโยบายใหม่ของประเทศที่พัฒนาแล้ว (New Paradigm Shift) ปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ โรงไฟฟ้า และโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปรับปรุงเครื่องจักรการผลิตปูนซิเมนต์ให้สามารถนำเชื้อเพลิงขยะมาใช้ทดแทนถ่านหินได้มากที่สุดในโลกโดยไม่มีกากศูนย์เสีย (Zero Waste) จึงสามารถลดต้นทุนการผลิตปูนซีเมนต์ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ภายใต้แนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy-BCG)
ทั้งนี้ TPIPL ถือว่าเป็นโรงปูนซีเมนต์แห่งแรกของประเทศไทย ที่สามารถนำเชื้อเพลิงขยะมาใช้แทนเชื้อเพลิงถ่านหินในทุกสายการผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 65 โดยจะสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 6.5 ล้านตัน CO2 เทียบเท่าต่อปี ขณะที่การปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อลด Heat consumption ลดค่าซ่อมแซม ใช้เชื้อเพลิงขยะทดแทนถ่านหินบางส่วน คาดว่าจะสามารถลดต้นทุนการผลิตปูนซีเมนต์ ส่วนบมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายเชื้อเพลิงขยะ RDF แก่ TPIPL ซึ่งถือว่าเป็น win-win situation สำหรับทั้งสองบริษัท โดย TPIPP ก็สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 8.5 ล้านตัน CO2 เทียบเท่าต่อปี
สำหรับภาพรวมธุรกิจปูนซีเมนต์ในปี 64 คาดว่าจะมีความต้องการใช้ภายในประเทศใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 33-34 ล้านตัน โดยมีปัจจัยมาการลงทุนก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค ระบบขนส่งมวลชน และระบบโครงข่ายการคมนาคมในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคตามนโนบายของภาครัฐ อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ โครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา ฯลฯ ขณะที่ตลาดส่งออกยังเติบโตได้ดี โดยบริษัทมีการส่งออกไปยัง จีน บังคลาเทศ และภูมิภาคอาเซียน
ขณะที่ธุรกิจเม็ดพลาสติก ปัจจุบันมีกำลังผลิต 158,000 ตันต่อปี โดยบริษัทถือเป็นผู้ผลิตในประเทศเพียงรายเดียวที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเม็ดพลาสติก EVA คุณภาพสูง โดยที่ผ่านมาได้ลงทุนและพัฒนาเครื่องจักรด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง จึงสามารถผลิต EVA เกรดพิเศษเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นในการผลิตและได้เปรียบในการแข่งขันมากขึ้น