แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยจะชะลอตัวกลายเป็นผลกระทบกดดันภาพรวมผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง แต่ก็มีหลายบริษัทจดทะเบียนที่ยังสามารถรักษาการเติบโตได้ดี โดยเฉพาะผู้ประกอบการภาคส่งออกขานรับอานิสงส์ดีมานด์ในตลาดโลกพลิกฟื้นตัวโดดเด่นและยังได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทอ่อนค่าลงด้วย
นับว่าสอดคล้องกับธุรกิจของ บมจ.ซันสวีท (SUN) ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูปและผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรอื่น ๆ ภายใต้ตราสินค้า "KC" ที่ปัจจุบันโครงสร้างรายได้หลักมาจากการส่งออก 70-80% ของรายได้รวมเป็นกลุ่มลูกค้ากระจายอยู่ใน 50-70 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกอย่างประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และกลุ่มทวีปยุโรป เป็นต้น
*ไร้กังวลครึ่งปีหลัง ดีมานด์ตลาดโลกโตต่อเนื่อง-บาทอ่อน
นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SUN ให้สัมภาษณ์กับ "อินโฟเควสท์" ว่า แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจปี 64 จะเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ต่อเนื่องจากปีก่อน แต่หากประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารในตลาดโลกกลับเติบโตสวนทาง จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้ผลิตรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหารปรับกลยุทธ์หันมากระจายหาซัพพลายรายใหม่ๆ มากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยงของภาวะขาดแคลนวัตถุดิบ ขณะที่ธุรกิจของบริษัทอยู่ในภาคการเกษตรสามารถเติบโตไปกับเทรนด์ของผู้บริโภคที่หันมาดูแลสุขภาพท่ามกลางการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่ลุกลามไปในหลายประเทศทั่วโลก
ภาพรวมผลประกอบการครึ่งปีหลังนั้น บริษัทมองว่ายังคงมีโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง เพราะเป็นช่วงฤดูกาลผลิตของวัตถุดิบการเกษตร ประกอบกับ ปัจจัยสนับสนุนทั้งจากสัญญาณของเงินบาทอ่อนค่า และความต้องการในตลาดโลก เพราะคำสั่งซื้อส่วนใหญ่เพื่อสต็อกวัตถุดิบจากเดิมเป็นเพียงแค่คำสั่งซื้อเพียงพอต่อการผลิตเท่านั้น
ส่วนไตรมาส4/64 แม้ว่าจะเป็นปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่บริษัทต่อยอดนำเทคโนโลยีเข้ามาในการผลิตในมิติต่างๆทำให้ไม่มีปัญหาการขาดแคลนสินค้าเหมือนกับสมัยอดีต
"วันนี้เรายังคงเป้ารายได้ทั้งปีว่าจะเติบโตไว้ไม่ต่ำกว่า 10% ภายใต้กำลังการผลิตรวม 218,000 ตันในสิ้นปีนี้ ขณะที่อัตรากำไรสุทธิจะเฉลี่ย 5-7% แม้ว่าครึ่งปีแรกบริษัทจะเติบโตได้ตามเป้าหมายวางไว้แล้วก็ตาม แต่หากปรับเพิ่มเป้าหมายคงต้องรอดูสถานการณ์ของไตรมาส 3/64 จบไปก่อน เบื้องต้นเชื่อว่าจะเติบโตได้เหมือนกับที่บอร์ดบริหารคาดหวัง
ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อนค่ายังเป็นแรงสนับสนุนศักยภาพทำกำไรในครึ่งปีหลังเช่นกัน เพราะตามหลักป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของบริษัทจะล็อกต้นทุนค่าเงินอยู่ที่ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคำสั่งซื้อแต่ละล็อตในสัดส่วนไม่เกิน 50-70% ดังนั้นคำสั่งซื้อสัดส่วนที่เหลือก็จะได้รับประโยชน์ทันทีจากเงินบาทอ่อนค่า บางส่วนอาจนำมาชดเชยจากค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นบ้างจากต้นทุนขนส่งสินค้าและต้นทุนบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นช่วงนี้ แต่บริษัทมีแนวทางการบริหารจัดการได้เป็นอย่างดีอยู่แล้วจึงไม่ได้เป็นตัวแปรที่ต้องกังวลในปีนี้"นายองอาจ กล่าว
อนึ่ง SUN แจ้งผลประกอบการ ไตรมาส 2/64 มีกำไรสุทธิ 59.37 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 56.5 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนแรกของปี 64 กำไรสุทธิ 88.57 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 66.94 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกราว 70%
*รุกหนัก Ready-to-eat หนุนเป้า 5 ปีอัตรากำไรสุทธิแตะ 2 หลัก
นายองอาจ กล่าวว่า เป้าหมายภายใน 5 ปีข้างหน้า บริษัทคาดว่ารายได้รวมจะเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10-15% ต่อปีและคาดหวังทิศทางอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นไปแตะ 2 หลัก เนื่องจากปัจจุบันบริษัทปรับโมเดลธุรกิจจากธุรกิจอิงกับสินค้าเกษตรเป็นหลักเปลี่ยนเข้าสู่โมเดลภาคการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน (Ready-to-eat) และผลิตภัณฑ์อาหารที่มุ่งเน้นการมูลค่าสินค้ามีส่วนต่างกำไรสูง
ปัจจุบันบริษัทได้ก่อสร้าง Mini Factory 2 แห่งเสร็จเรียบร้อยช่วยเพิ่มจำนวนผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานปัจจุบันมีกำลังการผลิตกว่า 50,000 ชิ้นต่อวัน เป็น 100,000 ชิ้นต่อวันภายในสิ้นปีนี้
สินค้าในกลุ่ม Ready-to-eat ประกอบด้วย 8 ไอเทม ได้แก่ ข้าวโพดหวาน มันหวานญี่ปุ่นเผา มันหวานญี่ปุ่นสีม่วงเผา มันหวานญี่ปุ่นสีส้มเผา ถั่วลายเสือ ธัญพืชรวม ซุปข้าวโพด และข้าวต้มมัด โดยมีแผนเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่เป็น 10 ไอเทมในสิ้นปี 64 ขณะที่หากกำลังการผลิตของ 2 โรงงานดังกล่าวเต็มแล้วก็มีแผนก่อสร้าง Mini Factory เพิ่มอีก 3 แห่งในเฟสถัดไป ล่าสุดได้เตรียมความพร้อมด้วยการซื้อที่ดินมาแล้วจำนวน 1,007 ไร่รองรับการขยายธุรกิจตามแผน 3 ปีข้างหน้าด้วย
*เล็งขอใบอนุญาตกัญชงครบวงจรต่อยอดขยายตลาดโลก
นายองอาจ กล่าวต่อว่า บริษัทมีความสนใจดำเนินธุรกิจกัญชงแบบครบวงจร โดยมีความตั้งใจที่จะขอใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ครอบคลุมทั้งธุรกิจต้นน้ำ คือ การเพาะปลูกในรูปแบบโรงเรือน Indoor และ Outdoor ที่มีมาตรฐานระดับสากล, การวิจัยเมล็ดพันธุ์ จากที่ผ่านมาได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อสนับสนุนโครงการศึกษาสายพันธุกรรมและลักษณะทางกายภาพของกัญชง
พร้อมการก่อสร้างโรงงานสกัดที่มีมาตรฐานระดับสากล และปลายน้ำ คือการมองหาโอกาสเข้าไปสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งจะนำความได้เปรียบจากการมีฐานลูกค้าในต่างประเทศต่อยอดขยายตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เบื้องต้นคาดว่าจะชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้นในปี 65
https://youtu.be/sp9JDMpXXHg