นายนิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจในครึ่งปีหลังของปี 64 ยังมีทิศทางเติบโตต่อเนื่องและมีแนวโน้มสูงกว่าครึ่งปีแรก จากการดำเนินการให้บริการด้านสาธารณูปโภคและไฟฟ้าให้กับลูกค้าของบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง
โดยแนวโน้มความต้องการใช้น้ำจากลูกค้าที่เพิ่มขึ้น เพราะมีการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้า GSRC เพิ่มเติมในหน่วยผลิตที่ 2 ในไตรมาส 4/64 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าของบมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) โดยจะมีปริมาณการไช้น้ำเพิ่มเข้ามา 15,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมียอดขายน้ำเพิ่มขึ้น
ขณะที่ครึ่งปีแรกมีปริมาณการจำหน่ายและบริหารน้ำทั้งในประเทศ และเวียดนามที่จำหน่ายน้ำในโครงการดวง ริเวอร์ เซอร์เฟส วอเตอร์แพลนท์ (Duong River Surface Water Plant: SDWTP) เพิ่มขึ้น ทำให้มียอดปริมาณการใช้น้ำรวม 67 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้ง บริษัทพัฒนาการนำน้ำเสียที่ได้จากกระบวนการบำบัดและใช้ใหม่ (Wastewater Reclamation) ไปผลิตเป็นน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) และน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water) ส่งผลให้บริษัทสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม (Value added product) เพิ่มขึ้นใน 6 เดือนแรกของปี 64 เป็นจำนวน 2 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้ามีการเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น จากการดำเนินการของโรงไฟฟ้า IPP และ SPP ที่คาดว่าจะดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงตามกำหนดดังเช่นในครึ่งปีแรก รวมถึงธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ที่จะยังคงมีการเติบโตของรายได้อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นกำลังการผลิตไฟฟ้า โดยในไตรมาส 2/64 มีโครงการ Solar Rooftop ที่เปิดดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 46 เมกะวัตต์ และสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 62 เมกะวัตต์ จากเป้าปี 64 ที่วางไว้ 90 เมกะวัตต์ และตั้งเป้าในปี 66 จะขยายธุรกิจ Solar Rooftop ได้ครบ 300 เมกะวัตต์ตามแผน
ครึ่งหลังของปี 64 ในช่วงของธุรกิจไฟฟ้าจะมีการรับรู้รายได้จากการเริ่มขายไฟฟ้า (COD) ของ Solar Rooftop ที่อยู่ทยอยติดตั้งแล้วเสร็จในช่วงครึ่งปีหลังอีก 17 เมกะวัตต์ จะทำให้บริษัทมีรายได้จากการขายไฟเข้ามาเพิ่ม ประกอบกับบริษัทยังอยู่ระหว่างรอการเซ็นสัญญา PPA กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ ราวปลายเดือน ส.ค.-ก.ย. 64 และจะทยอยติดตั้งแผง Solar Rooftop และทยอยรับรู้รายได้ในช่วงปลายปี 64 เป็นต้นไป
นอกจากนี้บริษัทยังคงเดินหน้าการพัฒนาโครงการด้านนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น ระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ P2P Energy Trading โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain รวมถึงการนำระบบกักเก็บพลังงาน Battery Energy Storage System (BESS) มาใช้ควบคู่กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในเร็วๆนี้ รวมทั้งยังคงแสวงหาโอกาสในการลงทุนเข้าซื้อกิจการ (M&A) ต่างๆ เพื่อเสริมศักยภาพการเติบโต โดยการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในเวียดนาม ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานในประเทศเวียดนาม คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า
"จากความมุ่งมั่นการเติบโตทางธุรกิจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมโซลูชั่นทั้งด้านพลังงานทดแทนและสาธารณูปโภครูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจพลังงานของภูมิภาค"นายนิพนธ์ กล่าว