ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ที่ระดับ "A+" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัทในวงเงินไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท ของบริษัทที่ระดับ "A-" ด้วย โดยเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ครั้งนี้จะนำไปใช้ชำระคืนหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนชุดเดิม
โดยหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทอยู่ 2 ระดับ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีลักษณะการด้อยสิทธิและผู้ออกตราสารสามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ยพร้อมกับสะสมดอกเบี้ยจ่ายของหุ้นกู้ได้ จากลักษณะของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวซึ่งมีความด้อยสิทธิ ความสามารถในการเลื่อนชำระดอกเบี้ยตามดุลยพินิจของบริษัท การห้ามไถ่ถอนหุ้นกู้ในช่วง 5 ปีแรก และการมีอายุตราสารที่ยาวนานทำให้ทริสเรทติ้งกำหนดให้หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนของบริษัทมีระดับความเป็นทุนระดับปานกลาง (Intermediate Equity Content)
ดังนั้น ในการคำนวณอัตราส่วนทางการเงินของบริษัท ทริสเรทติ้งพิจารณา 50% ของเงินต้นคงค้างของหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนเป็นทุน และอีก 50% เป็นเงินกู้และระดับความเป็นทุนของตราสารหนี้จะถูกปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับความเป็นทุนน้อย (0%, Minimal Equity Content) ในวันครบกำหนด 5 ปีนับจากวันออกหุ้นกู้ เนื่องจากอายุคงเหลือจริง (Remaining Effective Maturity) ณ วันดังกล่าวน้อยกว่า 20 ปี
ทั้งนี้ ตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของทริสเรทติ้งนั้นอายุคงเหลือจริงของตราสารจะลดลงเมื่อมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเท่ากับหรือมากกว่า 100 Basis Points (bps) ซึ่งในกรณีของหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนของบริษัทนั้น กรณีดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อหุ้นกู้ครบกำหนด 25 ปีนับจากวันที่ออกหุ้นกู้
นอกเหนือจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดสิทธิฯ ของหุ้นกู้ เช่น การเปลี่ยนแปลงในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล การเปลี่ยนแปลงในหลักการทางบัญชี หรือการเปลี่ยนแปลงในหลักเกณฑ์การพิจารณาของสถาบันจัดอันดับเครดิตในเรื่องของความเป็นทุนของหุ้นกู้แล้ว บริษัทมีความประสงค์ (แต่ไม่ผูกพันให้ต้องดำเนินการ) ที่จะชำระคืนเงินต้นของหุ้นกู้ที่ไถ่ถอนหรือซื้อคืนด้วยตราสารทุนที่เท่าเทียมกันหรือดีกว่า ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งอาจจะลดระดับความเป็นทุนของหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่จะออกใหม่และที่คงค้างสู่ระดับความเป็นทุนน้อยจากระดับความเป็นทุนปานกลางหากทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทมีความตั้งใจที่จะปฏิบัติให้แตกต่างจากข้อผูกพันเรื่องการออกหลักทรัพย์เพื่อทดแทนหุ้นกู้ในข้อกำหนดสิทธิฯ ดังกล่าว
สถานการณ์ของโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อส่งผลให้รายได้และกำไรของบริษัทอ่อนแอลง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ระดับ 2.7 แสนล้านบาทลดลง 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 2.3 หมื่นล้านบาท ลดลง 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ระดับ 8.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เทียบกับระดับ 8.8% ในช่วงเดียวกันของปี 2563
ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นจากผลประกอบการที่อ่อนลงและแผนการขยายงานอย่างต่อเนื่อง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.9 แสนล้านบาท จากระดับ 2.8 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 76.7% จากระดับ 75.3% ในปี 2563 ในขณะเดียวกันอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.2 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จากระดับ 5.7 เท่าในปี 2563
สำหรับช่วงเวลาที่เหลือของปี 2564 นี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงเผชิญกับความท้าทายในหลาย ๆ ด้านต่อไป ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการกระจายวัคซีนภายในประเทศที่ล่าช้ายังคงเป็นปัจจัยเหนี่ยวรั้งการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยวและการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ทริสเรทติ้งคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นชัดเจนในช่วงปลายปี 2565 เมื่อมีการกระจายวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง และมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศมีการผ่อนคลายลงตลอดจนกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่ากลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นการจำหน่ายสินค้าในช่องทางที่หลากหลาย (Omni-channel) ประกอบกับการเสนอสินค้าและบริการใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้นตลอดจนการผสานประโยชน์จากการซื้อกิจการในช่วงที่ผ่านมาน่าจะช่วยให้บริษัทมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งได้ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งปรับประมาณการลงเพื่อสะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ล่าช้ากว่าที่คาดไว้เดิมจากผลกระทบของโรคโควิด 19 ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ภายใต้ประมาณการใหม่ กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทคาดว่าจะลดลง 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 4.7 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5.3-5.9 หมื่นล้านบาทในปี 2565-2566 ในขณะที่อัตราส่วนส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.2 เท่าในปี 2564 และค่อย ๆ ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 5 เท่าในปี 2566
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทจะมีเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 แหล่งเงินทุนของบริษัท ประกอบด้วยเงินสดในมือจำนวน 3.1 หมื่นล้านบาทและคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทในปี 2564 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท ทริสเรทติ้งประเมินว่าเงินสดในมือและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทมีเพียงพอสำหรับใช้ในการชำระหนี้ที่จะครบกำหนดจำนวนประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท รวมถึงใช้เป็นค่าใช้จ่ายตามแผนลงทุนประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท
ตามข้อกำหนดทางการเงินของตราสารหนี้ที่ระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุน (ไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า) ให้ต่ำกว่า 2 เท่านั้น ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.8 เท่าซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทน่าจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้ตลอดช่วงระยะเวลาประมาณการ
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะความเป็นผู้นำและความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนยังคงมีผลการดำเนินงานทางการเงินที่ดีต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าการมีเงินสดในระดับที่สูงและกระแสเงินสดที่มั่นคงจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินในการลงทุนในอนาคตตามแผนของบริษัทได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากโครงสร้างเงินทุนและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงกว่าที่คาด หรือบริษัทมีการก่อหนี้เพื่อขยายการลงทุนจำนวนมากจนส่งผลให้โครงสร้างเงินทุนและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทคาดว่าจะอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ