นายเฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป (EPG) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเป้ารายได้งวดปี 64/65 (1 เม.ย.64-31 มี.ค.65) เติบโต 12-15% หรือราว 11,000 ล้านบาท โดยในช่วงไตรมาส 1 ของงวดปี 64/65 (เม.ย- มิ.ย.64) บริษัทสร้างรายได้ไปแล้วที่ 2,934 ล้านบาท ซึ่งเป็นสถิติยอดขายรายไตรมาสสูงสุด และระดับอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 32.8% สูงกว่าตั้งเป้าไว้ที่ 29-32% หลังทั้ง 3 ธุรกิจเติบโตตามการฟื้นตัวของตลาดต่างประเทศ
บริษัทยังคาดว่าผลประกอบการจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสถัด ๆ ไป เนื่องจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปีนี้ที่ 6% และปี 65 ที่ 4.9% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ และสหภาพยุโรป ที่ทำได้อย่างรวดเร็ว ทั้งจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หลังการเร่งฉีดวัคซีนและมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล อีกทั้ง Pent Up Demand ทำให้ยอดขายเร่งตัวขึ้น
สำหรับเศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนลดลง
ทั้งนี้ EPG มีสัดส่วนรายได้จากการขายของธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น และธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ กว่า 70% มาจากต่างประเทศ และธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกมีรายได้จากการขายในประเทศ 95%
แนวโน้มการดำเนินงานใน 3 กลุ่มธุรกิจ มีดังนี้
- ธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ AEROFLEX จัดเป็นสินค้าจำเป็นที่ใช้ในระบบปรับอากาศ อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง อุตสาหกรรมยา และ คลีนรูม เป็นต้น จึงทำให้ AEROFLEX สามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดได้ดี และตั้งเป้าทำการตลาดสำหรับสินค้าพรีเมี่ยมเป็นหลักทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ฐานการผลิตโรงงานแห่งใหม่ในสหรัฐอเมริกา จะนำเครื่องจักรระบบอัตโนมัติความเร็วสูงมาใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งโรงงานแห่งใหม่มีกำลังการผลิตประมาณ 4,000 ตัน/ปี ส่งผลให้ Aeroflex USA Inc. จะมีกำลังการผลิตรวม 8,000 ตัน/ปี และกำลังทดสอบการผลิตช่วงเดือนก.ค.-ก.ย.64 เพื่อเตรียมพร้อมขยายตลาด รองรับความต้องการในอนาคต
ส่วนตลาดยุโรปมีการปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน และตลาดญี่ปุ่น อินเดีย จีน ก็เริ่มทยอยฟื้นตัว ส่วนตลาดในประเทศไทยแม้จะมีการชะลอตัวช่วงเดือนก.ค.-ส.ค.64 แต่ถ้าหากมีการคลายล็อกดาวน์ ยอดขายน่าจะทยอยกลับมาได้
- ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ AEROKLAS ยอดขายมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อของกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเติบโตตามอุปสงค์ของผู้บริโภคที่ต้องการใช้ยานยนต์ส่วนตัวแทนระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถกระบะซึ่งใช้งานได้อย่างอเนกประสงค์ ประกอบกับ AEROKLAS มีจุดแข็งด้านช่องทางการจัดจำหน่ายทั้ง OEM/ODM (Original Design Manufacturer) After Market และการส่งออก จึงสามารถใช้ช่องทางดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้เกิด Synergy ของกลุ่มธุรกิจทั้งหมดของ AEROKLAS
ขณะที่ธุรกิจในออสเตรเลีย มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องจากความนิยมท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้นและความต้องการยานยนต์ประเภท Light Commercial Vehicle และ SUV ปรับสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ระลอกใหม่ในออสเตรเลีย ส่งผลให้มีการล็อกดาวน์ในบางรัฐ เช่น นิวเซาท์เวลส์ และวิคตอเรีย ซึ่งส่งผลกระทบกับร้านค้า TJM บางส่วนเท่านั้น เนื่องจากร้านค้าภายใต้แบรนด์ TJM กระจายทั่วออสเตรเลีย อีกทั้งมีแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งได้รับกระแสตอบรับดีจากกลุ่มลูกค้า
- ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกภายใต้แบรนด์ EPP ยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ระลอกสาม ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคภายในประเทศลดลง กดดันยอดขายของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรจุภัณฑ์ประเภทถ้วยน้ำ อย่างไรก็ตามสามารถชดเชยยอดขายด้วยบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทกล่องใส่อาหารซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภคในยุควิถีใหม่ (New Normal) ที่นิยมสั่งอาหารแบบ Delivery หรือ Take Away
อนึ่ง ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 งวดปี 64/65 บริษัทมีรายได้จากการขาย 2,934 ล้านบาท ซึ่งเป็นสถิติยอดขายสูงสุดรายไตรมาส โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขาย 1,952 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 50% มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 33% และสร้างสถิติสูงสุดใหม่ของกำไรสุทธิรายไตรมาสที่ 450 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 75 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 503%