โบรกฯต่างเชียร์"ซื้อ"หุ้น บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) เล็งผลดำเนินงานทยอยฟื้นตัวขึ้นหลังคลายล็อกดาวน์ เปิดให้บริการห้างสรรพสินค้าได้ เริ่มวันที่ 1 ก.ย.นี้ เป็นต้นไป ส่งผลดีต่อผลประกอบการที่จะค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้น โดยมองระยะแรกผู้ใช้บริการ หรือ Traffic จะยังไม่มาก เนื่องจากยังมีหลายพื้นที่ที่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ แต่จะทยอยเพิ่มขึ้นและเห็นได้ชัดเจนในไตรมาส 4/64 จากการฉีดวัคซีนเข็ม 2 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่คาดจะครบทุกคนได้ในปลายปีนี้ และตามต่างจังหวัดก็จะฉีดได้มากขึ้นเช่นกัน ทำให้สามารถสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้
อีกทั้งการเข้าซื้อหุ้นใน SF ก็คาดว่าจะเป็นผลดีในระยะยาว ที่อาจเห็นการพัฒนาทรัพย์สิน ที่ดิน ในอนาคต และยังทำให้ธุรกิจศูนย์การค้าของ CPN นั้นมีความหลากหลายมากขึ้น
หุ้น CPN ปิดเช้าที่ 53 บาท ลดลง 1.00 บาท (-1.85%) ขณะที่ดัชนี SET ปิดเช้าบวก 5.99 จุด
กสิกรไทย ซื้อ 58.50 หยวนต้า ทยอยซื้อ 59.00 ฟิลลิป ซื้อ 56.00 เอสบีไอ ไทยออนไลน์ ซื้อ 60.00 เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ซื้อ 60.00
นายสรพงษ์ จักรธีรังกูร ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลปลดล็อกเฟสแรก ให้ห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดดำเนินการได้ ก็มั่นใจว่าห้างสรรพสินค้าของ CPN ที่ปิดอยู่ จะกลับมาเปิดให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้เป็นต้นไป ทำให้ส่งผลดีต่อการรับรู้รายได้ เนื่องด้วยในช่วงที่ผ่านมามีการปิดให้บริการห้างสรรพสินค้า จำนวน 19 แห่ง ที่อยู่ใน 29 จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดง โดยในส่วนนี้มีพื้นที่เช่าคิดเป็น 62% ซึ่งมีการเปิดพื้นที่เช่าอยู่เพียง 10-15% เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต, ร้านยา และสถาบันการเงิน เป็นต้น ทำให้ปัจจุบัน CPN มีผลขาดทุนในระดับพันล้านบาท แม้ว่าจะมีห้างสรรพสินค้าอีก 14 แห่งที่เปิดให้บริการได้ แต่การออกมาจับจ่ายใช้สอยก็ไม่ได้ดีมาก และไม่ได้ชดเชยในส่วนของผลขาดทุนที่เกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ มองการกลับมาเปิดห้างสรรพสินค้าในครั้งนี้ อย่างน้อยผลขาดทุนก็จะหายไป แต่การเปิดรอบนี้ แม้จะมองเป็นบวก แต่ก็มีความกังวลต่อตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังอยู่ในระดับสูง หากเปิดแล้วกลับมาระบาดเพิ่มอีก ก็มีความเสี่ยงที่จะกลับมาล็อกดาวน์อีกรอบ ขณะเดียวกันก็ยังกังวลในเรื่องของ Traffic จากหลายๆ ร้านก็ยังคงปิดอยู่ เช่น โรงภาพยนตร์, สถาบันกวดวิชา, Convention center และฟิตเนส เป็นต้น ทำให้จะมีพื้นที่ที่กลับมาเปิดคิดเป็น 90% ของพื้นที่ทั้งหมดเท่านั้น
พร้อมกันนี้คาดว่า Traffic ในช่วงแรกคงไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมาก เนื่องจากจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมามากกว่า ซึ่งในส่วนนี้ก็จะขึ้นอยู่กับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยคาดว่าจะมีการฉีดวัคซีนเข็มที่สองของคนในกรุงเทพฯ ได้ครบทั้งหมดในช่วงไตรมาส 4/64 และทั่วประเทศจะได้ทั้งหมดประมาณ 26% ทำให้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อก็อาจจะลดลง
ขณะที่คาดผลประกอบการไตรมาส 3/64 น่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว หรืออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาส 2/63 ก่อนที่ในไตรมาส 4/64 จะพลิกฟื้นกลับขึ้นไป หรืออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงระดับปกติได้ เนื่องด้วยโดยปกติไตรมาส 4 จะลดลงจากไตรมาส 3 จากมีการจัดงานต่างๆ แต่ปีนี้คงไม่น่าจะจัดงานได้มากเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ทำให้ Bottom line น่าจะดูดีพอสมควร
"เราคาดว่าไตรมาส 3/64 น่าจะใกล้เคียงกับไตรมาส 2/63 เนื่องจากมีการปิดห้างสรรพสินค้าที่ใกล้เคียงกันราว 2 เดือน และการเปิดห้างในเดือนก.ย.นี้ เต็มเดือน ก็จะสามารถไปกลบในส่วนที่ขาดทุนในช่วง 2 เดือนแรกได้ รวมถึงในเดือนแรกก็ไม่ได้ปิดทั้งหมดด้วย เพิ่งจะมาปิดวันที่ 10 ก.ค.64 ทำให้ก้ำกึ่งอยู่ในระดับ บวก/ลบ Break event และด้วยการที่ CPN มี Accounting Income เข้ามา ที่เกี่ยวกับเรื่องพระราม 2 ราว 300 กว่าล้านบาท จึงหนุน Bottom line ให้ใกล้เคียงกับปีก่อน จึงทำให้คาดว่าไตรมาส 3 นี้ CPN จะไม่ขาดทุน"นายสรพงษ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามยังมีมุมมองบวกกับประเด็นการกลับมาเปิดห้างสรรพสินค้า แม้อาจจะมีความกังวลเล็กน้อย แต่เชื่อว่าการปิดอีกครั้งก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ง่าย เพราะมีการเปิดๆ ปิดๆ ก็อาจกระทบต่อความมั่นใจผู้บริโภค ทำให้มั่นใจว่าโอกาสที่จะปิดใหม่อีกรอบ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็คงไม่เกิดขึ้น รวมถึง CPN ก็มีการบริหารจัดการได้ดี
ด้านน.ส.วิชชุดา ปลั่งมณี ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองแนวโน้มการดำเนินงานของ CPN ในครึ่งปีหลังนี้ โดยการล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาส 3/64 คงจะมีผลกระทบกับ CPN เนื่องจากมีการลดค่าเช่า แต่จะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาส 4/64 จากปัจจุบันเริ่มเห็นการปลดล็อกดาวน์ โดยให้ห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดให้บริการได้ ก็น่าจะเป็นผลดีต่อ CPN โดยคาด Traffic หรือผู้ที่เข้ามาให้บริการในห้างสรรพสินค้าจะทยอยเพิ่มขึ้น และถ้าไม่มีการปรับมาตรการใหม่ หลังจากปลดล็อกดาวน์ไปแล้ว ยอดผู้ติดเชื้อปรับตัวลดลง และการฉีดวัคซีนมีความคืบหน้ามากขึ้น ก็น่าจะเห็นตัวเลขผลประกอบการในไตรมาส 4/64 ฟื้นตัวขึ้น
"การที่มีการผ่อนปรนมาตรการ ก็ถือว่า CPN อยู่ในโซนที่ดีกว่าตอนแรก ที่ไม่รู้ว่าจะผ่อนปรนเมื่อไหร่ ซึ่งอาจจะไปปลายปีเลย แต่ปัจจุบันคือเดือนก.ย. ก็ถือว่า CPN มีภาพที่ดีขึ้น แต่ก็ยังคงต้องติดตามสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง" น.ส.วิชชุดา กล่าว
จึงแนะนำให้ทยอยซื้อสะสม หาก Traffic ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง มีการฉีดวัคซีนได้มากขึ้น คาดว่าในปี 65 น่าจะเห็นการฟื้นตัวกลับมามากขึ้น และหากสายการบินเริ่มเปิดให้บริการ มีการเดินทางโดยเฉพาะการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เข้ามาท่องเที่ยวในบางจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็น่าจะเป็นบวกต่อ CPN ในปลายปีนี้ และปี 65
ส่วนการเข้าซื้อหุ้นใน บมจ.สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ (SF) จากบมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป (MAJOR) ในสัดส่วน 30.36% มองว่าจะส่งผลดีต่อ CPN ในระยะยาว จากมีโอกาสในการพัฒนาที่ดิน และทรัพย์สินทั้งในส่วนที่เป็นเมกาบางนา หรือที่อื่นๆ เพิ่มเติม
สำหรับประมาณการกำไรสุทธิปี 64 จะอยู่ที่ 8.3 พันล้านบาท และปี 65 อยู่ที่ 8.1 พันล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งได้แรงหนุนจากธุรกิจศูนย์การค้าที่สามารถเปิดทำการได้ดีขึ้นภายหลังการกระจายวัคซีนอย่างต่อเนื่องทำให้สถานการณ์ โควิด-19 คลี่คลาย และการจับจ่ายใช้สอยเริ่มกลับมาได้บ้าง โดยคาดหวังมีโอกาสเกิดขึ้นในไตรมาส 4/64 อย่างไรก็ตามประมาณการดังกล่าวยังไม่ได้รวมการลงทุนใน SF
ส่วนบล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า CPN ระยะยาวยังดี จากการบังคับใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นใน 29 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม แม้ทางฝ่ายกังวลผลดำเนินงานไตรมาส 3/64 อาจอ่อนตัว แต่ด้วยความหวังบวกต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่คาดดีขึ้นในไตรมาส 4/64 จากวัคซีนโควิดที่ทยอยเข้ามา บวกกับพื้นฐานธุรกิจของ CPN ที่พร้อมฟื้นตัวได้ทันทีหลังสถานการณ์คลี่คลาย ตลอดจนการเป็นผู้นำธุรกิจศูนย์การค้าที่มีความหลากหลายขึ้นหลังการเข้าซื้อ SF