นายขยล ตันติชาติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาด บมจ.สกาย ไอซีที (SKY) เปิดเผยว่า บริษัทจับมือเป็นพันธมิตรกับ SenseTime ผู้พัฒนา AI ระดับท็อปของโลก เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี Face Recognition สำหรับประเทศไทยในลักษณะ "Co-develop" นำข้อมูลดิบ (Raw Data) ในไทยมาป้อนให้ Machine Learning เพื่อพัฒนาและเรียนรู้บริบทของประเทศไทย รวมถึงใส่ใจกับความหลากหลายของการใช้งานกล้อง มีเทคโนโลยีรวมศูนย์กล้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความแม่นยำให้มากยิ่งขึ้น
บริษัทเชื่อว่าระบบการทำงานของ Face Recognition จะยิ่งมีบทบาทมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะด้านความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) และเข้ามาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน เพิ่มความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในทุกด้าน โดย SKY จะยังคงเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง อาทิ เทคโนโลยี Face Recognition และ Access Control สำหรับเข้าพื้นที่ต่างๆ การพัฒนาเทคโนโลยีการทำความรู้จักลูกค้าด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) เพื่อเข้าไปช่วยตอบโจทย์ธุรกิจการเงิน ประกันภัย การศึกษา สร้างความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตให้แก่ผู้คน
นายขยล กล่าวว่า เทคโนโลยี Face Recognition นับเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์โลกที่เด่นชัดขึ้นอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจากการต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยี AI จนสามารถระบุข้อมูลของใบหน้ามนุษย์ได้อย่างแม่นยำ ล่าสุด Face Recognition ค่อยๆ เข้ามาทดแทนเทคโนโลยีการพิสูจน์อัตลักษณ์ทางกายภาพของบุคคล (Biometrics) รูปแบบอื่น เนื่องจากสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้หลากหลายรูปแบบและหลากหลายอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน ยังสามารถมองเห็นรายละเอียดได้มากกว่าตาของมนุษย์ ณ ช่วงวินาทีเดียวกัน ทำให้มหาอำนาจหลายประเทศทั่วโลกต่างนำเทคโนโลยี Face Recognition เข้ามาช่วยค้นหาคนหายจากฐานข้อมูลใบหน้า ไปจนถึงใช้ติดตามมิจฉาชีพและผู้ต้องสงสัยในคดีอาชญากรรมต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกเหนือจากการใช้เพื่องานด้านความปลอดภัย (Security) แบบในภาพยนตร์ Si-fi แล้ว เทคโนโลยี Face Recognition ยังถูกนำมาใช้ในหลากหลายธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจค้าปลีก (Retail) ได้มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาใช้ตั้งแต่การนับจำนวนคนเข้ามาในห้าง ไปจนถึงการพัฒนาการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (Customer Relationship Management หรือ CRM) ช่วยตรวจจับและแจ้งเตือนให้พนักงานขายทราบตั้งแต่ตอนที่ลูกค้า VIP เดินเข้ามาในห้าง เพื่อที่จะได้เข้าไปดูแลได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสม
2.ธุรกิจสุขภาพ (Health) ประเทศในแถบอเมริกาเหนือ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา นำเทคโนโลยี Face Recognition มาใช้กับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home) ตรวจจับเพื่อดูแลไม่ให้ผู้สูงอายุเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง
3.ธุรกิจโลจิสติกส์ (Logistic) นำอุปกรณ์ IoT (Internet of Thing) เข้ามามีส่วนช่วยเชื่อมต่อกับเทคโนโลยี Face Recognition ในยานพาหนะ มาใช้กับเรื่องระบบ Face Access เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการด้านโลจิสติกส์มีหลากหลายกลุ่ม อาทิ คนขับรถ คนส่งของ พนักงานคลังสินค้า สินค้าที่จะขนส่งก็มีระดับความสำคัญหลากหลาย จึงใช้การสแกนใบหน้า เพื่อกำหนดสิทธิ์การเข้าพื้นที่ของคนแต่ละกลุ่ม ตรวจสอบว่าผู้ขับรถคันดังกล่าว เป็นผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่ประเภทดังกล่าว ไม่ได้เป็นผู้ไม่มีใบอนุญาตมาขับแทน รวมถึงตรวจจับว่าใบหน้าของผู้ขับขี่ มีอาการอ่อนเพลียหรือหลับหรือไม่ และแจ้งเตือนให้จอดพักหากมีอาการ นอกจากนี้ ยังรวมถึงช่วยตรวจสอบว่า พนักงานบางกลุ่มที่จำเป็นต้องประจำอยู่ในบางพื้นที่ของคลังสินค้าตลอดเวลา เช่น พนักงานรักษาความปลอดภัย ได้ประจำอยู่ในพื้นที่จริงๆ
ขณะที่การใช้งานเทคโนโลยี Face Recognition ในไทยนั้น นายขยล เล่าว่า ในอดีต Face Recognition ในไทย เคยเผชิญความท้าทายเรื่องคุณภาพของตัวกล้องที่ใช้ตรวจจับใบหน้า และความแตกต่างระหว่างบริบทของประเทศผู้พัฒนาเทคโนโลยี Face Recognition และประเทศไทย แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยี Face Recognition ในไทยพัฒนาไปไกลขึ้น จนสามารถทลายความท้าทายดังกล่าว และกลายเป็นสาเหตุสำคัญให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสนใจนำ Face Recognition มาใช้งานอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะถูกนำมาใช้อย่างเต็มรูปแบบกับธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ๆ มากขึ้น