เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร และประธานกรรมการ บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) ประกาศว่า เครือซีพีตั้งเป้าขยายร้านค้าปลีกและร้านค้าส่งของเครือให้ได้อย่างรวดเร็ว ทั่วภูมิภาค ซึ่งรวมถึงสาขาของสยามแม็คโคร และศูนย์ค้าปลีกค้าส่งรูปแบบอื่นๆในเครือซีพี โดยปัจจุบันเครือซีพีมีธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจค้าส่งอยู่ในประเทศจีน มาเลเซีย อินเดีย กัมพูชา เมียนมา ภายใต้แบรนด์และรูปแบบร้านค้าที่หลากหลาย รวมจำนวนประมาณ 337 ร้านค้า
นายศุภชัย กล่าวว่า ธุรกิจค้าปลีกเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยบนเวทีระดับโลก และเป็นธุรกิจที่ประเทศไทยสามารถประสบความสำเร็จบนเวทีโลกได้ นี่คือวิสัยทัศน์ร่วมกันของธุรกิจในกลุ่มค้าปลีกและค้าส่งในเครือซีพี เพื่อที่จะประสบความสำเร็จบนเวทีโลกที่ซับซ้อน บริษัทจะต้องตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว เพื่อนำบริษัทในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกของเครือซีพีขยายธุรกิจและแข่งขันกับผู้ประกอบธุรกิจในเวทีระดับโลก หากเมื่อมีการปรับโครงสร้างธุรกิจต่างๆ หลังได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นแล้ว จะทำให้สยามแม็คโคร กลายเป็นบริษัทแม่ของ บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด
"การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความคล่องตัวในการตัดสินใจต่างๆ และยังมีประโยชน์อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นด้วย ก็คือ จะช่วยทำให้แม็คโคร และโลตัสส์ มีความคล่องแคล่ว รวดเร็ว (Agility) ในการเดินหน้าสู่ความสำเร็จบนเวทีระดับนานาชาติ" นายศุภชัย กล่าว
ในการประชุมคณะกรรมการบมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 31 ส.ค. 64 คณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบที่จะนำเสนอต่อผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ที่จะจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนตุลาคม เพื่อให้อนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียน บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) จากปัจจุบัน 2,400 ล้านบาท เป็น 5,586 ล้านบาท โดยการเปิดขายหุ้นใหม่ จำนวน 6,372,323,500 หุ้น ที่ราคาพาร์ หุ้นละ 0.5 บาท ซึ่งในจำนวนนั้น จะเป็นการเปิดขายให้กับประชาชนทั่วไป จำนวน 1,362,000,000 หุ้น ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะเดินหน้าตามแผนการขยายธุรกิจในต่างประเทศ และแผนธุรกิจอื่นๆ
นางสุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจสยามแม็คโคร (MAKRO) กล่าวว่า บริษํทต้องการเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจที่มีอนาคตการเติบโตที่น่าตื่นเต้นบนเวทีระดับนานาชาติ ด้วยการเพิ่มสัดส่วนที่มากขึ้นให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาร่วมเป็นเจ้าของแม็คโคร โดย MAKRO ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการเป็นเจ้าของบริษัทฯ ให้กับประชาชนทั่วไป ถึง 2 เท่า จากเดิมสัดส่วนที่ประชาชนทั่วไปร่วมเป็นเจ้าของ MAKRO อยู่ที่ 7% จะเพิ่มเป็นมากกว่า 15% ในขณะที่ จำนวนการถือหุ้นของเครือซีพีใน MAKRO จะลดลงจาก 93% เหลือประมาณ 85% โดยที่การปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทต่างๆ ครั้งนี้ จะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินการของ MAKRO และบริษัทอื่นๆ ที่ดำเนินการอยู่
"พนักงานทั้งหมด ผู้บริหาร การจัดการและงานประจำวัน ฟอร์แมตธุรกิจ การวางตำแหน่งทางธุรกิจ ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และซัพพลายเออร์ จะยังคงอยู่และดำเนินการเช่นเดิม โดยการปรับโครงการธุรกิจครั้งนี้จะไม่มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องบุคลากร และจะไม่มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมของบริษัทฯ ทั้งนี้การดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ตามแนวทางการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งนี้ ยังคงต้องผ่านการเห็นชอบจากผู้ถือหุ้น รวมถึงการอนุมัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป" นางสุชาดา กล่าว
นายศุภชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดโครงสร้างใหม่ของธุรกิจค้าปลีกเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเครือซีพีบนเวทีนานาชาติครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนกลยุทธ์แพลตฟอร์มแห่งโอกาส ที่เครือซีพีเพิ่งประกาศไปก่อนหน้านี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ในระบบเศรษฐกิจโลกยุคหลังวิกฤตโควิด ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มให้กับบริษัทอื่นๆ จากประเทศไทย และผลิตภัณฑ์ของคนไทย เพิ่มศักยภาพการทำธุรกิจของพวกเขาให้ได้มากที่สุด
"เราต้องการให้ธุรกิจค้าปลีกของเราทั่วโลกทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มให้กับเกษตรกร ผู้ผลิต และ SME ไทยนับหมื่นๆราย ให้สามารถนำผลผลิตและสินค้าไปขายในต่างประเทศ"นายศุภชัย กล่าว
การขยายช่องทางค้าปลีกในตลาดโลกให้มากขึ้นสำหรับสินค้าไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลผลิตทางการเกษตร และอาหารสด คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยสานฝันของประเทศไทยในการเป็นครัวของโลก (Kitchen of the World) โดยร้านค้าของเครือซีพีจะทำหน้าที่เสมือนท่อธุรกิจที่ลำเลียงนำธุรกิจขนาดเล็กๆ จากประเทศไทย ให้เข้าสู่ตลาดใหม่ได้ พร้อมกับนำผลผลิตและสินค้าของไทยไปนำเสนอ สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจของเขาเอง ตลอดจนเสริมสร้างความแข็งแกร่งในทุกสถานการณ์ (Resilience) ให้กับธุรกิจของบริษัท
หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญที่สุดสำหรับเกษตรกรและผู้ผลิตของไทยที่ต้องเผชิญในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศคือความยากลำบากในการเข้าสู่ระบบการจัดจำหน่ายของประเทศอื่นๆ ซึ่งระบบเหล่านั้นอาจจะสนใจเฉพาะแบรนด์ ผู้ผลิต หรือซัพพลายเออร์รายเดิมๆ นอกจากนั้น การอาศัยพ่อค้าคนกลางจำนวนมากอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยด้วย บริษัทจะใช้ร้านค้าของเราเองเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศได้สัมผัสกับสินค้าไทยก่อน หลังจากนั้น ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะต้องพิสูจน์ตนเองด้วยคุณภาพ การกำหนดราคา และการตลาด เพื่อสามารถแข่งขันต่อไปได้
ประเทศไทยได้รับการยอมรับในวงการค้าปลีกระดับสากล จากการที่ธุรกิจค้าปลีกของไทยสามารถคว้ารางวัลยอดเยี่ยมด้านนวัตกรรม จากสมาคมค้าปลีกที่มีชื่อเสียงระดับโลก และยังเป็นเจ้าของกิจการค้าปลีกระดับแลนด์มาร์คในหลายประเทศ อย่างไรก็ดี อาจจะยังไม่สามารถเทียบกับยักษ์ใหญ่ของวงการค้าปลีกระดับโลกได้
โดยขนาดของธุรกิจ (scale) ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของธุรกิจค้าปลีกระดับโลก นั่นคือเหตุผลที่ในโลกปัจจุบัน บริษัทค้าปลีกระดับโลกจะเป็นบริษัทขนาดยักษ์ใหญ่ ยกตัวอย่างผู้ค้าปลีก 2 รายที่ใหญ่ที่สุดของโลก สามารถสร้างยอดขายของแต่ละรายได้มากกว่าขนาดเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศไทย จึงเป็นความท้าทายของธุรกิจค้าปลีกของไทยในการไปแข่งขันในระดับโลก
"ผมมั่นใจว่า การร่วมมือกับธุรกิจอื่นๆ ในประเทศไทย การปรับโครงสร้างธุรกิจ และการก้าวไปข้างหน้าอย่างมีเป้าหมายชัดเจน ตลอดจนมีเงินทุนที่เพียงพอ จะส่งผลให้ประเทศไทยมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศที่ค่อนข้างใหญ่ และมีนัยสำคัญได้ในอนาคตอันใกล้นี้" นายศุภชัย กล่าว