บมจ.อินโดรามา โพลีเมอร์ส(IRP)คาดการเข้าซื้อกิจการโรงงานผลิต PET ในยุโรปจะได้ข้อสรุปเดือนพ.ย.นี้ เบื้องต้นเจรจา 2-3 ราย มีทั้งแนวทางลงทุนเองและซื้อกิจการโรงงานอื่นมาปรับปรุง ทั้งสองแนวทางคาดว่าต้องใช้เงินลงทุนสูง โดยขั้นต่ำอยู่ในระดับ 100-200 ล้านเหรียญสหรัฐ
"ตอนนี้ยังเจรจากันอยู่ เบื้องต้นที่คุยไว้ 2-3 ราย มีทั้ง 2 อย่าง คือ ดูโปรเจ็คต์ใหม่ด้วยและจะซื้อคนอื่นด้วย ถ้าเป็น plan ใหม่ที่ต้องลงทุนเองอย่างน้อย 100 ล้านเหรียญฯ แต่ถ้าซื้อกิจการคนอื่นก็ขึ้นอยู่ plan ยังหาแหล่งอยู่ ตรงไหนที่ดีทำอย่างไรที่จะไปขยายธุรกิจหรือไปตั้งโรงงานใหม่"นายปราโมด นารายณ์ ดูเบย์ รองประธานฝ่ายการตลาด IRP เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"
เมื่อ ส.ค.50 ที่ผ่านมาบริษัทระบุว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาเข้าซื้อกิจการโรงงานผลิต PET ในยุโรปขนาดกำลังการผลิต 3.8 แสนตัน/ปี เพื่อรองรับความต้องการในตลาดยุโรปที่มีสูง
ปัจจุบัน กำลังการผลิตของโรงงานทั้ง 3 แห่งของ IRP อยู่ที่ประมาณ 6 แสนกว่าตันต่อปี แบ่งเป็นโรงงานในไทย 1.8-2 แสนตัน ในสหรัฐอเมริกากว่า 2 แสนตัน และที่ลิทัวเนีย 2 แสนตัน นอกจากนี้ ยังมีโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกแห่งใหม่ในสหรัฐที่มีกำลังการผลิต 4.2 แสนตันต่อปี คาดว่าจะเสร็จปี 52 และเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในต้นไตรมาส 2/52
*คาดสเปรดยังสูงแม้ราคาวัตถุดิบเพิ่มตามราคาน้ำมัน
นายปราโมด กล่าวว่า สเปรดหรือส่วนต่างของผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก PET กับวัตถุดิบในปีนี้อยู่ในระดับที่ดี และแนวโน้มก็น่าจะยังดีต่อเนื่อง เพราะดีมานด์เม็ดพลาสติก PET เติบโตขึ้นตลอด ซึ่งบริษัทสามารถปรับราคาขายผลิตภัณฑ์ได้ตามราคาวัตถุดิบที่แพงขึ้นตามราคาน้ำมัน ทำให้ยังสามารถสร้างผลกำไรที่ดีได้ และเชื่อราคาวัตถุดิบจะปรับตัวสูงขึ้นแค่ระยะสั้นเท่านั้น
"ราคาเม็ดพลาสติกแพงขึ้นคือวัตถุดิบแพงขึ้นด้วยเป็นต้นทุนที่แพงขึ้น ทำให้เราต้องปรับราคาขายเพิ่มขึ้น แต่ยืนยันว่าจะไม่มีผลทำให้กำไรสุทธิลดลง เพราะเราต้องปรับราคาขายขึ้นตามไปด้วย เราซื้อแพงเราก็ต้องขายแพง"นายปราโมด นารายณ์ กล่าว
ทั้งนี้ ราคาเม็ดพลาสติกขณะนี้อยู่ที่ 47-50 บาท/ก.ก.(ขึ้นอยู่เกรดของพลาสติก)เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่อยู่ที่ 45-47 บาท/ก.ก.ขณะที่สเปรดของผลิตภัณฑ์เม็ด PET กับวัตถุดิบ (PTA และ MEG) อยู่ที่ประมาณ 200 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลดลงจากเดือนก.ย.ที่อยู่ที่ 212 เหรียญสหรัฐ/ตัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบ MEG ที่สูงขึ้น
สาเหตุที่ราคาวัตถุดิบสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง และปัญหาวัตถุดิบ MEG ขาดแคลนและราคาถีบตัวสูงขึ้นอย่างผิดปกติ เนื่องจากโรงงาน SABIC ในซาอุดิอาระเบีย ที่มีกำลังการผลิตรวม 2.67 ล้านตัน/ปี ไม่สามารถผลิต MEG ได้เต็มที่ช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ IRP ไม่น่าจะมีปัญหามากในเรื่องของวัตถุดิบเพราะบริษัทสามารถซื้อวัตถุดิบจากที่อื่นได้
"ช่วงนี้มีผู้ผลิตวัตถุดิบรายใหญ่ที่ซาอุดิอาระเบียสั่งปิดโรงงาน มีปัญหาทำให้วัตถุดิบหลักแพงขึ้นทำให้เม็ด PET จะแพงขึ้นด้วย ซึ่งภาวะนี้จะต่อเนื่องถึงไตรมาส 4 เพราะวัตถุดิบยังแพงขึ้นต่อเนื่อง แต่เราก็ปรับกลยุทธ์คือถ้าวัตถุดิบแพงขึ้นเราก็ปรับราคาขายขึ้น ถ้าที่ SABIC ขาด เราก็ซื้อจากที่อื่นได้ เพราะเรามีแหล่งอื่นมากพอสมควร เพราะเรื่องนี้เราต้องระวังตัวตลอด"นายปราโมด กล่าว
อย่างไรก็ตาม คาดว่าโรงงาน SABIC จะกลับมาผลิตเต็มที่ได้ตามปกติภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า
นายปราโมด กล่าวว่า เมื่อ 2 เดือนที่แล้วราคา MEG อยู่ที่ประมาณ 1,060 เหรียญสหรัฐ/ตัน ปัจจุบันราคาปรับขึ้นมาเป็น 1,400 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่หากเดือนต่อไปราคาสูงขึ้นก็จะมีปัญหาแน่นอน และราคาน้ำมันช่วงนี้ก็ปรับขึ้นต่อเนื่อง ก็ย่อมส่งผลให้ต้นทุนบริษัทสูงขึ้นแน่นอน ซึ่งก็ต้องปรับราคาขายขึ้นตาม แต่ก็คาดว่าราคา MEG จะสูงขึ้นแค่ 2-3 เดือน อย่างมากก็แค่เดือนม.ค. 51 ไม่น่าจะเกินม.ค.น่าจะกลับสู่ภาวะปกติ
*คาดรายได้-กำไรสุทธิใน Q3/50 สูงกว่า Q2/50
นายปราโมด คาดว่า รายได้ในไตรมาส 3/50 จะสูงกว่าไตรมาส 2/50 ที่มีรายได้ประมาณ 5.99 พันล้านบาท หลังจากบริษัทได้เพิ่มกำลังการผลิตและมีปริมาณขายเม็ดพลาสติกเพิ่มขึ้น และยังคาดว่ากำไรสุทธิจะสูงขึ้นจากไตรมาส 2/50 ที่มีกำไร302 ล้านบาท
"กำไรก็น่าจะได้เยอะกว่าแน่นอน ซึ่งกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นมาส่วนใหญ่เป็นประทศไทยจากกำลังการผลิต 300 ตันต่อวัน เพิ่มอีก 150 ตันต่อวัน ในไตรมาส 3/50 นี้ เฉพาะกำลังการผลิตในประเทศไทยคิดเป็นเพิ่มขึ้นประมาณ 30-40% จึงเชื่อว่ากำไรสุทธิก็จะเพิ่มขึ้นตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นเช่นกันเพราะขายได้มากขึ้น ทั้งนี้ High season ของเราจะเป็นช่วง ม.ค.-ธ.ค."นายปราโมด กล่าว
ส่วนไตรมาส 4/50 รายได้น่าจะใกล้เคียงกับไตรมาส 3 เพราะผลิตเท่าไรก็ขายได้เท่านั้น
สำหรับปี 50 บริษัทตั้งเป้ารายได้ประมาณ 2.4 -2.5 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนมีรายได้ 1.18 หมื่นล้านบาท โดยครึ่งปีแรกมีรายได้แล้ว 1.17 หมื่นล้านบาท ครึ่งปีหลังรายได้และกำไรน่าจะมากขึ้นจากการขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติก PET เพิ่มที่โรงงานในไทยและในสหรัฐอเมริกา และปริมาณการขายที่จะเพิ่มขึ้นตาม
โดยเฉพาะโรงงานในไทยที่เพิ่มกำลังการผลิตจากเดิมอยู่ที่ 9 หมื่นตันต่อปี เพิ่มเป็น 1.8 แสนตันต่อปี โดยไตรมาส 3/50 จะถือเป็นรอบไตรมาสแรกที่โครงการส่วนขยายดังกล่าวเริ่มดำเนินการผลิตในเชิงพาณิชย์
--อินโฟเควสท์ โดย จำเนียร พรทวีทรัพย์/เสาวลักษณ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--