BGRIM เล็งปิดดีล M&A โรงไฟฟ้าครึ่งปีหลังราว 500-1,000 MW ลงทุน 1.5-3 หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 1, 2021 16:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริการการเงินและบัญชี บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 64 บริษัทคาดว่าจะได้ข้อสรุปการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ และการซื้อกิจการโรงไฟฟ้า (M&A) ทั้งในและต่างประเทศเข้ามาเพิ่มเติม โดยที่คาดว่าจะสามารถมีกำลังการผลิตใหม่เพิ่มเข้ามาราว 500-1,000 เมกะวัตต์ โดยที่บริษัทจะใช้เงินลงทุนเฉลี่ย 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อการลงทุนทุกๆ 1 เมกะวัตต์ หรือใช้เงินลงทุนรวม 1.5-3 หมื่นล้านบาท

สำหรับโครงการที่บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาดีล M&A และคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ โรงไฟฟ้าประเภท SPP ในประเทศไทย 3-4 โครงการ กำลังการผลิตราว 300-350 เมกะวัตต์ และมีโอกาสขยายกำลังการผลิตได้อีก 200-300 เมกะวัตต์ และยังมีโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ อาทิ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในมาเลเซีย กำลังผลิต 200-250 เมกะวัตต์ ซึ่งจะหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน และโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเกาหลีใต้ เฟสแรก กำลังการผลิต 100-150 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรและมีโอกาสต่อยอดการลงทุนร่วมกับพันธมิตรในโครงการอื่นๆเพิ่มเติมด้วย

ขณะที่โครงการในเวียดนามหลังจากได้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไปแล้วนั้น มองว่ามีโอกาสพัฒนาโรงไฟฟ้ากังหันลม ซึ่งจะเป็นโรงไฟฟ้าสร้างใหม่ กำลังผลิต 100-150 เมกะวัตต์ และระยะถัดไปในอนาคตมีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ (Gas to Power) ขนาดกำลังการผลิต 2,000-3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้กำลังรอความชัดเจนของแผนการผลิตไฟฟ้าจากรัฐบาลเวียดนาม รวมถึงมีโอกาสพัฒนาโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในประเทศอื่นๆ เช่น ยุโรป สหรัฐฯ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

นายนพเดช กล่าวว่า แผนการลงทุนของบริษัทยังจะเป็นตามเป้าหมายในช่วง 10 ข้างหน้า (ปี 64-73) คาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมราว 2.5-3 แสนล้านบาท ในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ เพื่อทำให้ปี 73 บริษัทจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าแตะ 10,000 เมกะวัตต์ และมีรายได้ระดับ 1 แสนล้านบาท/ปี ซึ่งบริษัทจะพยายามรักษาระดับอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ให้ไม่เกิน 2 เท่า และจะคุมหนี้สินต่อทุนต่อเงินกู้แต่ละโครงการให้ไม่เกิน 3 เท่า

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมการในส่วนของทางเลือกช่องทางการระดมทุนหลากหลาย ทั้งการกู้เงินจากสถาบันการเงิน การระดมทุนผ่านตราสารทุน และตราสารหนี้ เช่น การออกกรีนบอนด์ และ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

รวมถึงศึกษาช่องทางการนำโรงไฟฟ้าของบริษัทในเวียดนามเข้าระดมทุนเข้าตลาดหุ้นไทยหรือตลาดหุ้นเวียดนาม หลังจากบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในเวียดนามมากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ และมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติที่สนใจเข้าไปรวมลงทุนเพิ่มอีก 2,000-3,000 เมกะวัตต์ รวมถึงมีธุรกิจสายส่งในประเทศเวียดนามด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ