นายศุภกร ตุลยธัญ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ. พรินซิเพิล เปิดเผยว่า บลจ.พรินซิเพิล เพิ่มทางเลือกแก่นักลงทุนที่สนใจลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเปิดตัวกองทุนเปิด พรินซิเพิล ยูเอส อิควิตี้ หรือ Principal US Equity Fund (PRINCIPAL USEQ) มีทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท (Greenshoe 15%) เตรียมเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ในวันที่ 8-15 ก.ย.64 กำหนดสั่งซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท
PRINCIPAL USEQ เป็นกองทุนรวมหน่วยลงทุนประเภท Feeder Fund ที่มีนโยบายลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียวคือ iShares Russel 1000 ETF เป็นกองทุนหลัก ซึ่งหากย้อนดูในอดีตนับจากปี 50-63 ดัชนี Russell 1000 ให้ผลตอบแทนเป็นบวก และให้ผลตอบแทนแบบทบต้นต่อปีที่มีความโดดเด่น โดยให้ผลตอบแทน 1 ปี 43% 3 ปี 19% ต่อปี 5 ปี 18% ต่อปี และ 10 ปี 15% ต่อปี (ผลตอบแทนของดัชนีเทียบวัด : 1Y=43.07% ต่อปี 3Y=19.19% ต่อปี 5Y=17.99% ต่อปี และ 10Y=14.90% ต่อปี
นายศุภกร กล่าวว่า ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกามีโอกาสสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีและเป็นโอกาสที่จะเข้าลงทุนในตอนนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นตลาดหุ้นที่มี Market Cap สูงที่สุดในโลก ช่วงปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ สามารถฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วและแข็งแกร่งทั้งภาคการผลิตและภาคการบริการที่มีการเติบโตในระดับสูงนำหน้าทั้งกลุ่มประเทศ Developed Markets และกลุ่มประเทศ Emerging Markets อีกทั้งในระยะข้างหน้าประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ระยะการขยายตัวของ Mid-Cycle Phase ซึ่งจะมีอัตราการเติบโตมากกว่า 3% สูงกว่า GDP ในระยะยาวของสหรัฐฯ และเอื้อต่อการขยายตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียน
ขณะเดียวกัน สหรัฐสามารถแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี โดยมีอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบันมีอัตราการฉีดวัคซีนสองเข็มมากกว่า 50% ของประชากร จึงสามารถผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ได้ และถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีอัตราการระบาดที่เพิ่มมากขึ้นจากไวรัสสายพันธุ์เดลตา แต่ทางรัฐบาลสหรัฐยืนยันว่าจะไม่มีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ดังนั้น จึงคาดการณ์ว่าบริษัทเอกชนในสหรัฐฯ จะสามารถรักษาระดับการเติบโตของผลประกอบการ อีกทั้งจะสามารถสร้างผลกำไรที่เพิ่มขึ้นได้ในช่วงปี 65 ถึง 66 จากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งและการปรับเพิ่มประมาณการกำไรอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา พบว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดีในระดับมากกว่า 6% ต่อปีทั้งสองไตรมาส โดยในระยะถัดไปคาดว่าจะมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการผ่านร่างนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอีกกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งประกอบด้วย ร่างนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก้อนใหม่มูลค่า 5.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ และร่างนโยบายการลงทุนด้านสวัสดิการสังคมและ Climate Change ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน มูลค่า 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งเราคาดว่าเม็ดเงินลงทุนสองก้อนนี้จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและภาคเอกชนในอนาคต
ขณะที่ข้อมูลในอดีตพบว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ ในช่วงที่สหรัฐฯ มีการทำ Tapering หรือการลดขนาด QE ครั้งแรกเมื่อปี 56 และ 57 โดยที่ผลกระทบต่อตลาดนั้นเป็นเพียงแค่การปรับฐานระยะสั้น และหลังจากนั้นตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงช่วงที่เศรษฐกิจจีนฟองสบู่แตกในปี 58 นับว่าเป็นการปรับขึ้นของตลาดหุ้นที่ยาวนานและมีเสถียรภาพ
"เรามองว่าในตอนนี้เป็นโอกาสลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่นอกจากจะมีอัตราการเติบโตโดดเด่นสำหรับตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วยังมีความผันผวนต่ำกว่าหุ้นภูมิภาคอื่นท่ามกลางสภาวะการลด QE อีกทั้งยังมีนโยบายการลงทุนภาครัฐออกมาสนับสนุนต่อเนื่อง ถือว่าหาได้ยากในยุคที่หลายประเทศเริ่มมองถึงการถอนมาตรการช่วยเหลือ" นายศุภกร กล่าว