นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ช ทวี (CHO) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการทำแผนธุรกิจใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจไปให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ที่การเข้ามาของเทคโนโลยีมีบทบาทมากขึ้น โดยที่จะเป็นการต่อยอดจากธุรกิจเดิมในการพัฒนารถยนต์ที่จะหันมามุ่งเน้นระบบรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะมีการใช้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต หลังจากปัจจุบันบริษัทมีการพัฒนารถบัสไฟฟ้า (EV Bus) และรถแท๊กซี่ไฟฟ้า (EV Taxi) ซึ่งได้นำร่องจากการพัฒนา London Taxi จำนวน 1,000 คันมาให้บริการในกรุงเทพฯ และจะเพิ่มอีก 2,500 คันภายใน 2 ปี เพื่อให้บริการมาในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
ทั้งนี้ บริษัทมองโอกาสการต่อยอดในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ EV ในส่วนของการพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องกับการผลิต รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและงานบริการแบตเตอร์รี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อเข้ามาต่อยอดธุรกิจในระยะต่อไป และผลักดันโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโต หลังจากที่เผชิญแรงกดดันจากปัจจัยโควิด-19 ที่ทำให้ผลการดำเนินงานชะลอลงไป ทำให้บริษัทต้องปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อภาวะต่างๆกลับมาปกติ
ขณะเดียวกัน จากการที่บริษัทเคยพัฒนาระบบเก็บค่าโดยสารไร้เงินสดให้กับระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้บริษัทมีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านระบบบล็อกเชน (Blockchain) จึงเล็งเห็นโอกาสในการที่จะต่อยอดความรู้และความเชี่ยวชาญดังกล่าวด้วยการมองหาโอกาสในการลงทุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับฟินเทค (FinTech) ที่จะเข้ามาพัฒนาบริการระบบที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บเงินแบบไร้เงินสดเพิ่มเติม และพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีที่บริษัทเคยได้ลงทุนไป เพื่อเข้ามาเป็นส่วนเสริมในการนำเสนอโซลูชั่นด้านการเงินได้เพิ่มเติม สามารถสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ๆเข้ามา
นอกจากนี้ บริษัทยังสนใจธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกัญชงเพื่อเข้าต่อยอดธุรกิจในอนาคต โดยได้มีการร่วมกันศึกษาร่วมกับสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในการมองหาโอกาสในการลงทุนในธุรกิจดังกล่าว คาดว่าจะเห็นความชัดเจนออกมาในช่วงที่เหลือของปีนี้
"ตอนนี้อยู่ระหว่างการทำแผนการ Transform ธุรกิจของบริษัทอยู่ ซึ่งก็ใกล้จะเสร็จแล้ว และในไตรมาสหน้าก็เตรียมที่จะมาเล่าให้ฟังอีกครั้ง เราพยายามปรับการดำเนินธุรกิจของบริษัทไปสู่การเติบโตของโลกในยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง EV ที่มีการผลักดันมากขึ้น แต่เราคงไม่ผลิตรถ EV ออกมาขาย เราจะเน้นไปที่การพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องกับรถ EV มากกว่า รวมถึงการที่เรามีความรู้ด้านระบบ Blockchain ก็จะสามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจ FinTech ที่เรามองว่าเป็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจได้ เพื่อทำให้ CHO พลิกฟื้นกลับมาอย่างแข็งแกร่ง"นายสุรเดช กล่าว
ด้านความคืบหน้าของการเข้าเป็นสปอนเซอร์ในการดำเนินธุรกิจรูปแบบ Special Purpose Acquisition Company (SPAC) ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีเป้าหมายนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปซื้อบริษัทเป้าหมาย (Target Company) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาไฟลิ่งกับก.ล.ต.สหรัฐฯ เพื่อการที่บริษัทจะเข้าเป็นสปอนเซอร์ในธุรกิจ SPAC และเตรียมเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น NASDAQ สหรัฐฯ คาดว่าระยะเวลาในการพิจารณาไฟลิ่งของ SPAC ราว 1 เดือน จะได้ข้อสรุปการที่บริษัทจะสามารถเข้าไปเป็นสปอนเซอร์ หลังจากนั้นจะเริ่มมีการระดมทุนในตลาดหุ้น NASDAQ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไม่เกิน 3 เดือน หรือในช่วงไตรมาส 4/64 และหลังจากนั้นบริษัทคาดว่าจะเริ่มมีส่วนแบ่งรายได้จากธุรกิจ SPAC เข้ามา ซึ่งในวันที่ 7 ก.ย. 64 บริษัทเตรียมเข้าไปให้รายละเอียดกับสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของไทย เกี่ยวกับข้อมูลการลงทุนใน SPAC ด้วย
นายสุรเดช กล่าวอีกว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 64 ยังคาดว่าทรงตัวหรือใกล้เคียงกับปีก่อน แต่ในส่วนของโอกาสในการพลิกกลับมามีกำไรนั้นยังไม่สามารถบอกได้ชัด เพราะปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทมาจากงานบริการเป็นส่วนใหญ่กว่า 80% และงานโครงการต่างๆ ก็ชะลอออกไป รวมถึงกลุ่มลูกค้าสายการบินที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้รายได้จากงานโครงการเข้ามาน้อย ยังเป็นแรงกดดันต่อภาพรวมของผลการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีการส่งมอบงานอยู่บ้างในครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งจะมีการรับรู้รายได้จากงานที่ส่งมอบเข้ามาราว 376 ล้านบาท จากมูลค่างานในมือ (Backlog) ที่มีอยู่ทั้งหมด 2 พันล้านบาท และส่วนที่เหลือจะทยอยรับรู้ไปต่อเนื่องตั้งแต่ปี 65 อีกทั้งยังมีการประมูลงานใหม่เพิ่มมาอีก ซึ่งล่าสุดได้เข้าประมูลงานใหม่อีก 2 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 200 ล้านบาท คาดหวังจะได้รับงานทั้งหมดเข้ามาเติม Backlog ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้