ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) เปิดเผยว่า บริษัทคาดปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานในปี 65 จะกลับมาเติบโตได้ถึง 110% หรือคิดเป็น 3,990 ล้านลิตร ซึ่งคิดเป็นประมาณ 65% ของปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานในปี 62 หรือช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 จากปีนี้คาดว่าจะปรันตัวลดลง 19% หรือคิดเป็น 1,900 ล้านลิตร จากปีก่อนอยู่ที่ 2,354 ล้านลิตร
ทั้งนี้ เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 เริ่มมีการคลี่คลาย และมีการจัดสรรวัคซีนได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงประชาชนทั่วไปก็เข้าถึงวัคซีนได้อย่างกว้างขวาง ทำให้คาดว่าในปีหน้าการบินจะกลับมาเติบโตได้ โดยในระยะสั้นบริษัทมองว่าธุรกิจสายการบินที่ปัจจุบันได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากโควิด-19 จะค่อยๆ เริ่มฟื้นตัวตั้งแต่เดือน พ.ค.65 เป็นต้นไป
และในระยะกลางยังคงเชื่อว่าการเดินทางด้วยเครื่องบินยังมีความจำเป็น ตราบใดที่โลกยังมีการเชื่อมโยงกันอยู่มีการติดต่อสื่อสารทางธุรกิจ ความต้องการไปเที่ยวของคน และในระยะยาวการเดินทางด้วยอากาศยานเชิงพาณิชย์ ก็อาจเห็นการเปลี่ยนการใช้พลังงานไปเป็นไบโอ ซึ่งปัจจุบันก็มีการใช้อย่างแพร่หลายในลักษณะของไบโอเจ็ต
นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ปริมาณการเติมน้ำมันรวมทุกผลิตภัณฑ์ที่ให้บริการโดยบริษัทย่อย บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด (FPT) ในปี 65 จะเติบโต 28% หรือคิดเป็น 4,008 ล้านลิตร ขณะที่ปีนี้เติบโต 0.3% หรือมีปริมาณน้ำมันอยู่ที่ 3,142 ล้านลิตร เนื่องจากโครงการขยายท่อขนส่งน้ำมันทางภาคเหนือ แบ่งเป็น โครงการ NFPT ระยะที่ 1 บางประอิน-กำแพงเพชร-พิจิตร รวม 367 กิโลเมตร ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ไปในเดือน มิ.ย.62 และล่าสุด โครงการ NFPT ระยะที่ 2 กำแพงเพชร-ลำปาง รวม 209 กิโลเมตร ก็ได้มีการ COD แล้วในเดือนก.ย.นี้ ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้เข้ามาในช่วงที่เหลือของปีนี้ และจะรับรู้รายได้เต็มปีในปี 65 ทั้งคลังที่พิจิตรและลำปาง
ด้านธุรกิจพลังงานทดแทน บริษัทยังคงแผนเข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในประเทศญี่ปุ่น จำนวน 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 13 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 768 ล้านบาท โดยมองทั้ง 2 โครงการนี้ถือเป็นความสำคัญอย่างมาก ในการขยายฐานธุรกิจพลังงานทดแทนออกไปยังต่างประเทศ ที่จะสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพทางรายได้ให้กับกลุ่มบริษัทต่อไปในอนาคต และเป็นการกระจายความเสี่ยง ลดการพึ่งพารายได้จากธุรกิจบริการน้ำมันอากาศยาน
ขณะที่ผลการดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 7 แห่ง กำลังการผลิตรวม 36.3 เมกะวัตต์ ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา กำลังการผลิตไฟฟ้าค่อนข้างดีกว่าที่คาดไว้ค่อนข้างมาก โดยมีผลผลิตรวม 28.4 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง (GWh) สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 25.9 GWh
ส่วนบริษัท บาฟส์ อินเทค จำกัด (BAFS Intech Co.Itd.) หรือ BI ผู้ให้บริการออกแบบ ผลิตและประกอบรถเติมน้ำมันอากาศยานและระบบให้บริการน้ำมันอากาศยาน ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ BAFS ได้มีการลงนามความร่วมมือกับบริษัท ITURRI จากประเทศสเปน ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำ ที่ดำเนินธุรกิจประกอบรถเพื่อใช้ในกิจการพิเศษ ทั้งนี้ เพื่อให้ BI เป็นตัวแทนประกอบรถเติมน้ำมันอากาศยานระบบไฟฟ้า หรือระบบ EV Hydrant Dispenser ในประเทศไทย เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ โดย BI จะเป็นโรงงานผลิต ประกอบ และทำการตลาดรถเติมน้ำมันอากาศยาน ด้วยโลโก้ของ ITURRI ขณะที่ทาง ITURRI จะให้ความช่วยเหลือในการถ่ายทอดความรู้ จัดส่งอุปกรณ์ที่จำเป็น ซึ่งจะมีสัญญาระยะยาว 10 ปี
สำหรับ BI ปัจจุบันมียอดคำสั่งซื้อรถเติมน้ำมันอากาศยานอยู่ 5 คัน โดยเป็นรถ Hydrant Dispenser จำนวน 3 คัน, รถ EV Hydrant Dispenser จำนวน 2 คัน เมื่อรวมกับสัญญาซ่อมบำรุงคาดว่าจะมีรายได้รวมในปีนี้อยู่ที่ 68 ล้านบาท ส่วนในปี 65 ก็มียอดคำสั่งซื้ออยู่ 5 คัน เป็นรถ Hydrant Dispenser จำนวน 3 คัน และเป็นรถ Refueller Truck จำนวน 2 คัน เมื่อรวมกับสัญญาซ่อมบำรุงคาดว่าจะมีรายได้รวมในปี 65 อยู่ที่ 49 ล้านบาท นอกจากนั้นยังอยู่ระหว่างการปิดการเจรจา และการเข้าร่วมการประมูลเพิ่มเติม ทำให้จะมียอดคำสั่งเพิ่มเข้ามาอีก เป็น รถ Hydrant Dispenser จำนวน 4 คัน, รถ Refueller Truck 3 คัน และรถใช้อเนกประสงค์ อีก 1 คัน มูลค่ารวม 93 ล้านบาท
ม.ล.ณัฐสิทธิ์ กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีสัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจหลัก 50% และรายได้จากธุรกิจใหม่ๆ ทั้งโรงไฟฟ้า, การประกอบรถ, การให้บริการดิจิทัลโซลูชั่น ทั้งบล็อกเชน AI ต่างๆ อีก 50% จากปัจจุบันที่มีรายได้จากการขายไฟฟ้าคิดเป็น 20% ของรายได้รวมของกลุ่มบริษัท
"ในอีก 5 ปีข้างหน้า ภาพที่เห็นจะแตกต่างจากปีนี้พอสมควร ซึ่ง BAFS ในวันนี้ก็แตกต่างจาก BAFS ใน 37 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็น BAFS ที่แข็งแกร่งขึ้น มีการกระจายความเสี่ยงทางรายได้อย่างเป็นรูปธรรม ฉะนั้นเมื่อเจอความเสี่ยงของไวรัส ในอนาคต เราจะไม่โดนกระทบเหมือนในปัจจุบัน" ม.ล.ณัฐสิทธิ์ กล่าว