ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"
อันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานที่ยาวนานของบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำตาล รวมถึงการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาล และประโยชน์ที่ได้รับจากสภาวะแวดล้อมของกฎระเบียบที่เอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวก็ถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อยและราคาน้ำตาล รวมถึงความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจโรงงานน้ำตาลของบริษัทในประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
- ราคาน้ำตาลที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลทำให้อัตรากำไรปรับตัวดีขึ้น ผลการดำเนินงานของบริษัทในปีบัญชี 2563 เป็นไปตามประมาณการของทริสเรทติ้ง โดยบริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานรวมลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.21 หมื่นล้านบาท ในขณะที่อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 9.9% ในปีบัญชี 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับประมาณการของทริสเรทติ้งที่ระดับ 8.1% อันเนื่องมาจากการที่บริษัทมีต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นจากปริมาณอ้อยที่ลดลงซึ่งเป็นผลจากภาวะภัยแล้งที่รุนแรงในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกของปีบัญชี 2564 โดยบริษัทรายงานอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ระดับ 29.8% เมื่อเทียบกับระดับ 4.7% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งเกิดจากราคาน้ำตาลที่เพิ่มสูงขึ้นจากผลของปริมาณอ้อยในประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่องยาวนาน นอกจากนี้ บริษัทยังมีอัตรากำไรที่เพิ่มขึ้นจากการมียอดจำหน่ายน้ำตาลในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นในขณะที่บริษัทยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารได้ค่อนข้างดี ดังนั้น บริษัทจึงมีผลกำไรสุทธิที่จำนวน 411 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปีบัญชี 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีบัญชี 2563 ที่มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 375 ล้านบาท
ในอนาคตข้างหน้าทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะลดลงประมาณ 14% มาอยู่ที่ระดับ 1.05 หมื่นล้านบาทในปีบัญชี 2564 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.2-1.4 หมื่นล้านบาทในปีบัญชี 2565-2566 อันเนื่องมาจากการที่ผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นจากผลของสภาวะอากาศที่เอื้ออำนวยในฤดูการผลิตหน้า
ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าราคาน้ำตาลโลกจะอยู่ที่ระดับประมาณ 18.3 เซนต์ต่อปอนด์ในปีบัญชี 2564 และจะปรับตัวลดลงเป็น 13.5-15.0 เซนต์ต่อปอนด์ในปีบัญชี 2565-2566 ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 17.7% ในปีบัญชี 2564 และจะอยู่ที่ระดับ 16.1%-19.0% ในปีบัญชี 2565-2566
- กิจการโรงงานน้ำตาลในประเทศเพื่อนบ้านปรับตัวดีขึ้น บริษัทดำเนินกิจการโรงงานน้ำตาลในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) และประเทศกัมพูชามาตั้งแต่ปีบัญชี 2553 โดยบริษัทมีรายได้ที่มาจาก สปป. ลาว และกัมพูชาในสัดส่วนรวมกันน้อยกว่า 5% ของรายได้รวม
ปัจจุบันการดำเนินกิจการโรงงานน้ำตาลของบริษัทในประเทศกัมพูชาอยู่ในระหว่างขั้นตอนการขายเงินลงทุน อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำตาลที่ผลิตได้ใน สปป. ลาว ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ซึ่งเป็นผลมาจากราคาจำหน่ายน้ำตาลและกากน้ำตาลที่เพิ่มสูงขึ้นรวมถึงอัตรากำไรที่มากขึ้นจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีการคัดสรร ทั้งนี้ บริษัทย่อยในต่างประเทศทั้ง 2 แห่งดังกล่าวรายงานผลกำไรสุทธิรวมกันทั้งสิ้นจำนวน 36 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปีบัญชี 2564 เมื่อเทียบกับผลขาดทุนสุทธิจำนวน 30 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2563
- ความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่ลดลงและค่าใช้จ่ายลงทุนที่จำกัดส่งผลทำให้ภาระหนี้ของบริษัทลดลง ระดับสินค้าคงคลังของบริษัทยังคงที่อยู่ที่ระดับ 73 วัน ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2563 ตามปริมาณน้ำตาลคงคลังที่อยู่ในระดับลดลง บริษัทยังได้ลดค่าใช้จ่ายลงทุนในปีบัญชี 2563 ลงเหลือ 480 ล้านบาทจากที่ระดับ 741 ล้านบาทในปีบัญชี 2562 ด้วย ดังนั้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินรวมต่อเงินทุนของบริษัทจึงปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 49.2% ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2563 เมื่อเทียบกับระดับ 51.3% ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2562
ภาระหนี้รวมที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 หมื่นล้านบาท ณ เดือนเมษายน 2564 เนื่องจากบริษัทมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนที่สูงขึ้นในช่วงฤดูกาลหีบอ้อย อย่างไรก็ตาม บริษัทวางแผนจะลดค่าใช้จ่ายลงทุนให้เหลือประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อปีในช่วงปีบัญชี 2564-2566 โดยจะใช้เงินลงทุนส่วนใหญ่ไปในการขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำเชื่อมและเป็นค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงประจำปี
ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทน่าจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43%-47% ในช่วงปีบัญชี 2564-2566 เมื่อเทียบกับระดับ 49%-51% ในปีบัญชี 2562-2563 ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินรวมนั้นคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 8%-11% ในปีบัญชี 2564-2566 จากระดับ 4%-10% ในช่วงปีบัญชี 2562-2563
- การบูรณาการไปยังธุรกิจปลายน้ำ ธุรกิจปลายน้ำที่เกี่ยวเนื่องของบริษัทประกอบด้วยการผลิตไฟฟ้า เอธานอล และปุ๋ยซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลมาพัฒนาต่อยอด ทั้งนี้ ผลพลอยได้ส่วนใหญ่คือชานอ้อย กากหม้อกรอง และกากน้ำตาล โดยบริษัทนำชานอ้อยมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในโรงไฟฟ้า ส่วนกากหม้อกรองนั้นนำมาใช้ผลิตเป็นปุ๋ยเพื่อใช้ในการปลูกอ้อย ในขณะที่กากน้ำตาลนั้นนำมาใช้ผลิตเอทานอล อนึ่ง บริษัทได้เริ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาลมานานมากกว่า 10 ปีแล้ว
รายได้จากธุรกิจพลังงานและธุรกิจปุ๋ยคิดเป็นประมาณ 7%-11% ของรายได้รวมของบริษัท ในขณะที่สัดส่วนการลงทุนของบริษัทในการผลิตเอทานอลนั้นเป็นการดำเนินงานผ่านการถือหุ้นในสัดส่วน 40% ใน บมจ. บีบีจีไอ (BBGI) ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้รับส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในบริษัทบีบีจีไอปีละประมาณ 250-290 ล้านบาทในช่วงปีบัญชี 2564-2566
- มีสถานะสภาพคล่องที่เพียงพอ ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทน่าจะยังคงเพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า บริษัทมีภาระหนี้เงินกู้ยืมระยะยาวจำนวนประมาณ 1.7 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในปีบัญชี 2564 นอกจากนี้ บริษัทยังมีภาระหนี้ที่จะต้องจ่ายชำระตามกำหนดรวมทั้งสิ้นอีกจำนวน 1.1-4.6 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปีบัญชี 2565-2566 อีกด้วย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับ 1.4-1.8 พันล้านบาทในปีบัญชี 2564-2566 ตามราคาน้ำตาลที่เริ่มทยอยฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม บริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดทั้งสิ้นจำนวน 132 ล้านบาทและมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกกว่า 1.42 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนเมษายน 2564 ซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับการชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในช่วงปีบัญชี 2564-2566
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- รายได้รวมจะปรับตัวลดลง 14% ในช่วงปีบัญชี 2564 และจะเติบโตที่ระดับ 14%-20% ต่อปีในช่วงปีบัญชี 2565-2566
- อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ที่ระดับประมาณ 18% ในปีบัญชี 2564 และจะคงอยู่ที่ระดับ 16%-19% ต่อปีในระหว่างปีบัญชี 2565-2566
- ค่าใช้จ่ายลงทุนทั้งหมดจะอยู่ที่ระดับประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปีบัญชี 2564-2566
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไทยเอาไว้ได้ ในขณะที่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศไทยและรายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าน่าจะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนในธุรกิจน้ำตาลให้แก่บริษัทได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไรของบริษัทฟื้นตัวอย่างมั่นคงเป็นระยะเวลานานในขณะที่บริษัทสามารถลดระดับภาระหนี้ลงได้ตามเป้าหมายโดยทำให้มีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 7 เท่าเป็นระยะเวลานาน
ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญเป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน นอกจากนี้ การลงทุนที่ใช้เงินกู้จำนวนมากซึ่งอาจทำให้งบการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องก็อาจส่งผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตด้วยเช่นกัน