บ้านปู เน็กซ์ ชู 3 กลยุทธ์หลัก 5 ปี เพิ่มเป้าพลังงานสะอาดดัน EBITDA โตหนุนกลุ่ม BANPU

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 8, 2021 14:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า การทรานฟอร์มธุรกิจของบ้านปู ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ธุรกิจที่สำคัญของกลุ่มก็คือ บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด (Banpu NEXT) ประกอบไปด้วยธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology) ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ของกลุ่ม BANPU ให้เป็นไปตามเป้าหมายในปี 68 หรือมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) จากธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงาน มากกว่า 50% ภายในปี 68

นายเจมส์ รามา ปัทมินทรวิภาส ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน Banpu NEXT กล่าวว่า บริษัทวางแผนการดำเนินงานในช่วง 5 ปี (64-68) ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter และหลักการดำเนินงานสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG จากกลุ่มบ้านปู เพื่อขับเคลื่อนองค์กรในทุกมิติ ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่

1. เน้นขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล (Data Driven) โดยยึดความต้องการและปัญหาของลูกค้าเป็นสำคัญ เพื่อนำไปวิเคราะห์ พัฒนา และออกแบบโซลูชันที่ตอบโจทย์การดำเนินงานและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจของลูกค้า รองรับเทรนด์การใช้พลังงานและพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคต ขณะเดียวกันก็สร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

2. เดินหน้าลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Investment) ศึกษาการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่มีโอกาสการเติบโต ผนึกพันธมิตรทางธุรกิจ และสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยที่มีความสามารถ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของระบบนิเวศทางธุรกิจ และสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

3. ผลักดันธุรกิจให้เติบโตในทุกโซลูชัน โดยวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) ไม่น้อยกว่า 20% ของกลุ่มบ้านปู ผ่านการดำเนินธุรกิจหลัก ทั้ง ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน แบตเตอรี่ ซื้อขายไฟฟ้า อี-โมบิลิตี้ และพลังงานฉลาด รวมถึงเดินหน้าขยายการให้บริการไปยังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างต่อเนื่อง

นายเจมส์ กล่าวว่า แผนการดำเนินงานของธุรกิจของบริษัทฯ แบ่งเป็น ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ซึ่งถือเป็นธุรกิจหลัก มีแผนปรับเพิ่มเป้าหมาย กำลังการผลิตอีกราว 20-30% จากเดิม 1,600 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 68 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกว่า 1,200-1,300 MW แล้ว แบ่งเป็นพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่รวม 824 MW และกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ลานจอดรถ และโซลาร์ลอยน้ำรวม 249 MW รวมถึงยังมีโครงการอื่นๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่าจะมีกำลังการผลิตที่ 1,600 MW ก่อนเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 68

ทั้งนี้ รายละเอียดแผนการปรับเป้าหมายใหม่นั้น บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) เพื่อพิจารณา คาดว่าจะสามารถประกาศอย่างชัดเจนในลำดับต่อไป

ด้านธุรกิจแบตเตอรี่ (Energy Storage System) ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) และตั้งเป้าหมายการเติบโตของกำลังการผลิตไว้ที่ 3 GWh ในปี 68 จากขยายการเติบโตของธุรกิจแบตเตอรี่คุณภาพสูงของดูราเพาเวอร์ และนำมาต่อยอดพัฒนาโซลูชั่นพลังงานอื่นๆ ตามความต้องการของลูกค้า และด้วยเทรนด์ที่มาเร็วและแรงของธุรกิจดังกล่าว คาดว่ามีโอกาสในการปรับเป้าหมายใหม่ขึ้นเข่นกัน

ธุรกิจ Energy Trading ปัจจุบันยังคงจำกัดอยู่ในประเทศที่มีการเปิดเสรีในการซื้อขายไฟฟ้า เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา โดยปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าแล้วราว 305 GWh ในประเทศญี่ปุ่น และตั้งเป้าที่จะมีการซื้อขายไฟฟ้าต่อปี เป็น 1,000 GWh ภายในปี 68 ผ่านการขยายไปยังประเทศอื่นๆ โดยมีแผนเปิดตลาดในออสเตรเลียปีหน้า และมองโอกาสในประเทศสหรัฐ เป็นลำดับต่อไป

ธุรกิจอี-โมบิลิตี้ โดยปัจจุบันมีจุดให้บริการถึง 1,000 จุด ทั่วกรุงเทพฯ มีรถไฟฟ้า หรือยานพาหนะไฟฟ้าที่ให้บริการแล้วราว 200 คัน และล่าสุดได้เปิดตัวเรือเดินไฟฟ้า ให้บริการที่เกาะภูเก็ต ซึ่งบริษัทฯ ก็ตั้งเป้าให้บริการธุรกิจดังกล่าวให้ครบวงจรและครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยเพิ่มจุดบริการไรด์ แชร์ริ่ง เป็น 50,000 จุด เพิ่มจุดบริการคาร์แชร์ริ่ง เป็น 5,000 จุด เพิ่มจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้า และพัฒนาบริการหลังการขายให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มเรือเดินไฟฟ้า อีกกว่า 100 ลำ

นอกจากนี้ ยังเตรียมขยายโปรเจกต์สมาร์ทซิตี้ และคอมมูนิตี้เพิ่มเป็น 9 โครงการ จากปัจจุบัน 5 โครงการ

นายเจมส์ เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเน้นขยายการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนอย่างโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก และธุรกิจแบตเตอรี่ที่จะมาช่วยเสริมการเติบโตในอนาคต โดยมองว่าการลงทุนแต่ละโครงการนั้นจะต้องสร้างผลตอบแทนหรือกำไรจากการลงทุน (IRR) กลับมาให้แก่บริษัทไม่น้อยกว่าตัวเลข 2 หลัก

ปัจจุบันบริษัทฯ มีสัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่ ราว 70% มาจากธุรกิจพลังงานหมุนเวียนใน 5 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม ออสเตรเลีย และกำลังจะขยายเข้าไปในสหรัฐฯ ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจ Energy treading หรือการซื้อขายไฟฟ้า, ธุรกิจ Energy Technology และการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ

ด้านแผนการนำบริษัทในกลุ่ม Banpu NEXT เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นางสมฤดี กล่าวเสริมว่า อยู่ระหว่างศึกษา และพิจารณาโอกาสอีกครั้งว่าสถานการณ์เอื้ออำนวยมากแค่ไหน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ