แหล่งข่าวจากวงการธุรกิจการบิน เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกันระหว่างนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และสมาคมสายการบินในประเทศ ที่มีอยู่ 7 สายการบินเกี่ยวกับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟท์โลน ที่เสนอขอวงเงินล่าสุด 5,000 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 2.5 หมื่นล้านบาทว่า ตัวแทนสายการบินได้แจ้งต่อรมว.คลังว่า เงื่อนไขการกู้เงินสร้างความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมกันระหว่างสายการบินด้วยกันในหลายๆด้าน ได้แก่ การสนับสนุนสินเชื่อจะพิจารณาแบบ Commercial Loan ที่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งภายใต้เงื่อนไขนี้มีเพียง บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) เท่านั้นที่มีทรัพย์สินมากพอจะนำมาค้ำประกันเงินกู้ได้ เพราะสายการบินอื่นไม่สามารถนำตารางการบิน หรือ slot มาค้ำประกันได้
ขณะที่สายการบินไทยสมายล์ ที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อตามพ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจ ก็ถือว่ารอดแล้ว
นอกจากนี้ การนำ พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาอ้างอิง โดยกำหนดให้สายการบินที่มีวงเงินกู้ยืมกับสถาบันการเงินต่างๆ สามารถขอวงเงินกู้ยืมเพิ่มได้อีก 30% จากวงเงินกู้เดิมนั้น สายการบินไทยแอร์เอเชีย มีวงเงินกู้กับธนาคารเพื่อส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) 2 พันล้านบาท ก็จะได้รับเงินกู้ยืมเพิ่ม 600 ล้านบาท รวมทั้งได้รับการพักชำระดอกเบี้ยและขยายเวลาชำระหนี้
แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า จากเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้ 3 สายการบินจะมีเงินกู้ใหม่เข้ามาเติม ขณะที่สายการบินนกแอร์ (NOK) สายการบินไทยเวียตเจ็ท สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ไม่มีสินทรัพย์ที่จะสามารถนำมาค้ำประกันสินเชื่อได้ รวมทั้งยังไม่มีวงเงินกู้กับแบงก์ สิ่งนี้ถือว่าเป็นการแทรกแซงการแข่งขันระหว่างสายการบิน
อย่างไรก็ดี ที่ประชุมได้หยิบยกแหล่งเงินที่จะมาจากกองทุนฟื้นฟูเพื่อช่วยธุรกิจเอสเอ็มขึ้นมาพิจารณา แต่ธุรกิจสายการบินไม่เข้าข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งจะมีการแก้คำนิยาม เอสเอ็มอี และให้ขยายวงเงินช่วยเหลือ แต่คาดว่าจะต้องใช้เวลา ส่วนอีกแหล่งอาจจะมาจากกองทุนประกันสังคม ซึ่งยังเหลือวงเงินช่วยเหลืออยู่ประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่ขณะนี้คณะกรรมการกองทุนฯ ให้กู้สูงสุดเพียง 30 ล้านบาทต่อสายการบิน ขณะที่สายการบินต้องการขยายวงเงิน เพราะแต่ละสายการบินมีค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินเดือนราว 100-200 ล้านบาท/เดือน