INTERVIEW: B เปิดใจวันหุ้นร้อนสู่บริบทใหม่เป็นมากกว่าโลจิสติกส์

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 10, 2021 13:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บี จิสติกส์ (B) นับเป็นหนึ่งหุ้นไซส์เล็กที่ราคาร้อนแรงติดอันดับต้นๆ รอบเดือน ส.ค.ต่อเนื่องมาถึงเดือน ก.ย.ภายหลังจากปรับโครงสร้างธุรกิจตัดขายทรัพย์สินที่ไม่ทำกำไร ควบคู่กับการขยายธุรกิจเข้าสู่โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานด้วยการเข้าถือหุ้นในบริษัทผู้ผลิตน้ำประปาและผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้งในไทยและต่างประเทศ คาดหวังนำไปสู่การล้างขาดทุนสะสมและจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอนาคตอันใกล้

"ตั้งแต่ผมเข้ามาบริหารตั้งแต่ต้นปีนี้ อย่างแรกคือต้องทำตัวให้เบาก่อน ทรัพย์สินอะไรที่เราถือไว้เยอะแล้วไม่สร้างรายได้เข้ามาเท่าที่ควร หรือไม่สร้างรายได้เลย เราก็ขายออกไป อย่างท่าเรือบางปะกงที่เราขายออกไปแล้วได้เงินมา เราก็เอามาชำระคืนหนี้ ตอนนี้ถือว่าเราแทบไม่มีเงินกู้ยืมมากแล้ว ภาวะดอกเบี้ยก็น้อย ทำให้เรากลับมาคล่องตัว

จากนั้นก็ปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจใหม่ พยายามมองหาโอกาสใหม่ๆ เข้ามาเสริม โดยเฉพาะธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ของเราที่ยังมีโอกาสในตลาดอีกมาก ซึ่งจะมีการเพิ่มบริการต่างๆ เข้ามาสร้างรายได้ใหม่ๆ เสริมอีก และก็มองหาโอกาสในธุรกิจพลังงานทดแทนที่ ผมมองว่ามีความน่าสนใจจากเทรนด์การใช้พลังงานสะอาดที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้น" นายปัญญา บุญญาภิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.บี จิสติกส์ (B) ให้สัมภาษณ์กับ "อินโฟเควสท์"

*ตัดขายกิจการท่าเรือ เสริมศักยภาพเป็นมากกว่า "โลจิสติกส์"

นายปัญญา เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนธุรกิจของบริษัทในระยะต่อไปจะยังคงเน้นไปที่ธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ แม้ว่าช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ตัดสินใจขายท่าเรือบางประกง เป็นหนึ่งในทรัพย์สินที่ไม่สร้างกำไร ส่งผลให้ผลประกอบการโดยรวมกลับมาพลิกมีกำไรอีกครั้งรอบหลายปี

ปัจจุบัน ธุรกิจหลักของบริษัทยังคงมุ่งเน้นการขนส่งและโลจิสติกส์ด้วยการให้บริการรถหัวลาก แม้อาจจะชะลอตัวลงไปบ้างช่วงที่มีการล็อกดาวน์ปลายไตรมาส 2/64 ต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 3/64 ทำให้ปริมาณการขนส่งในประเทศลดลง แต่ประเมินว่าหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มดีขึ้น และเริ่มคลายล็อกดาวน์ จะทำให้ปริมาณการขนส่งกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอีกครั้ง โดยความต้องการใช้บริการรถหัวลากจากผู้ประกอบการภาคธุรกิจจะขยายตัวโดดเด่น

บริษัทมีจำนวนรถหัวลากอยู่ที่ 37 คัน และใช้บริการซับคอนแทรคที่เป็นพันธมิตรอีกราว 100 คัน เพื่อรองรับความต้องการใช้รถหัวลากได้เพียงพอ

"เรายังคงเน้นไปที่ธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์ นับเป็นการต่อยอดธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและโลจิสติกส์เข้ามาเพิ่มเติม เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยที่จะเน้นไปที่การลงทุนในธุรกิจที่มองว่ามีโอกาสในการตลาด เป็นตลาดที่มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีทั้งการลงทุนด้วยบริษัทเองและการมีพันธมิตรอื่นๆ เข้ามาร่วมลงทุนด้วย เพื่อเป็นการเสริมศักยภาพให้กับการต่อยอดธุรกิจซึ่งกันและกัน และจะเป็นการสร้างธุรกิจที่จะสร้างรายได้เข้ามาให้กับบริษัทอย่างเป็นรูปธรรม" นายปัญญา กล่าว

ส่วนแผนขยายฐานลูกค้า บริษัทมองเห็นโอกาสการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเน้นไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมหนัก เพราะมีความต้องการใช้บริการขนส่งและโลจิสติกส์เป็นจำนวนมาก ประกอบกับการพัฒนาพื้นที่ EEC จะทำให้การขนส่งในพื้นที่ EEC เติบโตมากขึ้น จากการที่มีกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามา ส่งผลให้บริษัทมีโอกาสในการขยายฐานต่อยอดจากลูกค้าเดิม และทำให้รถหัวลากสามารถให้บริการทั้งขาไปและขากลับ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของบริษัทที่พยายามทำให้สินทรัพย์สามารถสร้างรายได้เข้ามาให้ได้มากที่สุด

*รับรู้โรงไฟฟ้า-ผู้ผลิตน้ำดิบเสริมแกร่งรายได้ประจำ

นายปัญญา กล่าวว่า บริษัทเริ่มมีรายได้จากธุรกิจพลังงานทดแทนผ่านบริษัท บริษัท เดอะ เมกะวัตต์ ที่เพิ่งเข้าไปร่วมทุนและได้มีการจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้ว 2 โครงการ คือ โซลาร์ฟาร์ม SPP ภายใต้บริษัทย่อย สยาม โซลาร์ ใน จ.ชัยภูมิ กำลังการผลิต 27 เมกะวัตต์ ซึ่ง COD ไปแล้วตั้งแต่ปี 56 และโซลาร์ฟาร์มในประเทศเวียดนามที่บริษัทเข้าไปร่วมทุน กำลังการผลิต 29 เมกะวัตต์ COD ไปแล้วเมื่อปี 63 ทั้ง 2 โครงการถือว่าเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เสริมเข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้น B ยังเข้าซื้อหุ้นบริษัท เทพฤทธา จำกัด ในสัดส่วน 51% เพื่อขยายธุรกิจผลิตน้ำดิบ ซึ่งสามารถกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาธุรกิจหลัก

"การลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนอื่นๆ เพิ่มเติมนั้น ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งบริษัทยังคงมองหาการลงทุนใหม่ๆ ในธุรกิจพลังงานทดแทนเข้ามา เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับผลการดำเนินงานของบริษัท พร้อมกับการต่อยอดการเติบโตให้กับธุรกิจที่จะเป็น New S Curve ใหม่ โดยเฉพาะการลงทุนโครงการพลังงานทดแทนในต่างประเทศที่ยังมีโอกาสการลงทุนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียนที่บริษัทมีความสนใจลงทุนเพิ่มเติม รวมถึงโครงการในประเทศที่จะมีออกมาตามแผนงานโครงการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง" นายปัญญา กล่าว

*ปี 65 ลุ้นเข้าสู่ยุคเติบโต หวังล้างขาดทุนสะสม-ปันผลครั้งแรกรอบหลายปี

สำหรับภาพรวมของผลการดำเนินงานในปีนี้ เชื่อมั่นว่าจะเป็นปีที่เริ่มเห็นการพลิกฟื้นกลับมาหลังจากมีการปรับโครงสร้างภายใน และปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ให้สอดคล้องกับภาวะตลาดปัจจุบัน เพื่อสร้างโอกาสให้กับธุรกิจหลัก รวมถึงการขายสินทรัพย์ที่ไม่สร้างรายได้บางรายการออกไป ทำให้บริษัทมีภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนลดลง โดยเฉพาะดอกเบี้ย

นายปัญญา กล่าวว่า บริษัทได้นำเงินที่ได้จากการขายสินทรัพย์ไปชำระคืนหนี้ต่างๆ ที่ได้กู้ยืมมา ทำให้มีภาระดอกเบี้ยลดลงไปมาก และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงเหลือ 0.18 เท่า ทำให้บริษัทมีความสามารถในการกู้ยืมเพิ่ม สามารถรองรับการลงทุนใหม่ๆ ในอนาคตได้

ทั้งนี้ จากการปรับโครงสร้างต่างๆ ในบริษัท และการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ จะทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทเห็นภาพการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 64 เป็นต้นไป และคาดว่าภายในปี 65 จะสามารถล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่ราว 84 ล้านบาทได้ทั้งหมด จากการที่บริษัทสามารถพลิกกลับมามีกำไรได้ต่อเนื่อง และหากเริ่มกลับมาฟื้นอย่างแข็งแกร่งและมีความมั่นคงแล้ว มองว่าในอนาคตก็มีโอกาสที่จะส่งผลตอบแทนคืนให้กับผู้ถือหุ้นด้วยการจ่ายเงินปันผล แต่ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบอร์ดบริหารด้วย

https://youtu.be/KR2j-e5-nPY


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ