CWT เผยผ่านอุทธรณ์โรงไฟฟ้าชุมชน 10 โครงการ หวังได้รับเลือกมากกว่า 4 โครงการ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 13, 2021 10:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT) เปิดเผยว่า บริษัทในกลุ่มของ บริษัท ชัยวัฒนา กรีน จำกัด ได้ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์คุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าด้านเทคนิคในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) ทั้งหมด 10 โครงการ ได้แก่ บริษัท กุสุมาลย์ เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท ยางชุมน้อย เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท ศรีรัตนะ เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท กันทรารมย์ เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท ปรางค์กู่ เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท อุทุมพรพิสัย เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท โซง เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท เก่าขาม เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท โดมประดิษฐ์ เพาเวอร์ จำกัด และ บริษัท กุดรัง เพาเวอร์ จำกัด ด้วยปริมาณเสนอขาย 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ โดยชัยวัฒนา กรีน ถือหุ้นในสัดส่วน 60% ทั้งหมดทุกโครงการ

ก่อนหน้านี้ CWT มีบริษัทที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและคำเสนอขอขายไฟฟ้าทางเทคนิค รอบแรก จำนวน 2 โครงการ จากการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ได้แก่ 1.บริษัท ทุ่งศรีอุดม เพาเวอร์ จำกัด และ 2. บริษัท เบญจลักษ์ เพาเวอร์ จำกัด ปริมาณเสนอขายไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ต่อโครงการ โดย ชัยวัฒนา กรีน ถือหุ้นในสัดส่วน 60% ทั้ง 2 โครงการ

นอกจากนี้ มีกำหนดประกาศเปิดซองพิจารณาด้านราคาในวันที่ 20 ก.ย.64 และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พิจารณาต่อในวันที่ 22 ก.ย.64 โดยสำนักงาน กกพ. จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ อย่างเป็นทางการ ภายในวันที่ 23 ก.ย.64

"เราได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์ไปทั้งหมด 11 โครงการ ผ่านเกณฑ์พิจารณา 10 โครงการ โดยก่อนหน้านี้เข้าผ่านเทคนิครอบแรก 2 โครงการ ส่งผลทำให้บริษัทมีโครงการที่ผ่านเกณฑ์เทคนิค และอยู่ระหว่างรอลุ้นผลการเปิดซองเสนอราคารวม 12 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 36 เมกะวัตต์ และคาดหวังผลการผ่านพิจารณาคัดเลือกในครั้งนี้มากกว่า 4 โครงการ ทั้งนี้หากได้งานดังกล่าวเพิ่มเติม จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยผลักดันผลการดำเนินงานของ CWT เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจในระดับฐานรากเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต" นายวีระพล กล่าวในที่สุด

ปัจจุบัน CWT มีโรงไฟฟ้าที่ขายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 2 โรง รวม 14 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา คือ โรงไฟฟ้าขยะชุมชน จังหวัดนครสวรรค์ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ปัจจุบันได้สัญญาบริหารจัดการขยะแล้ว 25 ปี และอยู่ระหว่างขอ PPA


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ