ภาวะตลาดหุ้นไทยปิดเช้าลบ 10.55 จุดตอบรับ Bond Yield พุ่ง-ดอลล์แข็งค่าทำ Fund Flow ชะลอ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 17, 2021 12:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

SET ช่วงเช้าปิดที่ระดับ 1,621.15 จุด ลดลง 10.55 จุด (+0.65%) มูลค่าการซื้อขายราว 52,432 ล้านบาท นักวิเคราะห์ฯ เผยตลาดหุ้นไทยเช้านี้ปรับตัวลงมากรับปัจจัยลบจาก Bond Yield พุ่งและดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า กังวลเฟดเปิดไทม์ไลน์ลด QE ส่งผล Fund Flow ชะลอลงทุนรอผลประชุมเฟดสัปดาห์หน้า ประกอบกับตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงขึ้นอาจเป็นภาพการระบาดกลับมา แนวโน้มช่วงบ่ายคาดยังลบต่อเนื่อง ให้แนวรับที่ 1,617 จุด แนวต้านที่ 1,627 จุด

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปิดช่วงเช้าวันนี้ที่ระดับ 1,621.15 จุด ลดลง 10.55 จุด (+0.65%) มูลค่าการซื้อขายราว 52,432 ล้านบาท

การซื้อขายหุ้นช่วงเช้าวันนี้ ดัชนีหุ้นไทยเช้านี้เคลื่อนไหวแดนบวกช่วงต้นภาคเช้าและไหลลงไปแดนลบ โดยทำระดับสูงสุด 1,635.04 จุด และระดับต่ำสุด 1,617.31 จุด

นายศราวุธ เตโชชวลิต ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวว่าตลาดหุ้นไทยเช้านี้ปรับลงกว่า 10 จุด มาจากปัจจัยหลักกดดัน คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี (Bond Yield) พุ่งขึ้น และเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าจากความกังวลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในสัปดาห์หน้า (21-22 ก.ย.) อาจจะเปิดเผยช่วงเวลาปรับลดวงเงินโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และจำนวนวงเงิน ส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) ชะลอ โดยเงินบาทอ่อนค่ามากสุดในรอบ 1 เดือน และรอติดตามสัญญาณของเฟดสัปดาห์หน้า

นอกจากนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศปรับตัวขึ้นมาระดับ 1.4 หมื่นรายจากที่เคยลงไปแตะ 1.1 หมื่นราย หลังคลายล็อกดาวน์มา 15 วันว ทำให้เกิดความกังวลการแพร่ระบาดโควิด-19

ส่วนกรณีไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของจีนประกาศยอมรับว่าบริษัทกำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่อง และอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด อาจกระทบกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ถือหุ้นกู้ของไชน่า เอเวอร์แกรนด์ฯ แต่อสังหาริมทรัพย์ไทยไม่กระทบเพราะไม่มีการร่วมลงทุนแต่อย่างใด

แนวโน้มตลาดหุ้นช่วงบ่าย นายศราวุธ คาดว่ายังเคลื่อนไหวในแดนลบต่อเนื่องจากช่วงเช้า ยกเว้นกลุ่มส่งออก กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับอานิสงส์เงินบาทอ่อนค่า โดยให้แนวรับที่ 1,617 จุด แนวต้านที่ 1,627 จุด

ส่วนหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 หลักทรัพย์ ได้แก่

KCE มูลค่าการซื้อขาย 4,312.06 ล้านบาท ปิดที่ 85.00 บาท เพิ่มขึ้น 6.50 บาท

PTT มูลค่าการซื้อขาย 2,809.80 ล้านบาท ปิดที่ 39.25 บาท ลดลง 0.50 บาท

HANA มูลค่าการซื้อขาย 2,378.41 ล้านบาท ปิดที่ 81.50 บาท เพิ่มขึ้น 6.75 บาท

DELTA มูลค่าการซื้อขาย 1,281.48 ล้านบาท ปิดที่ 568.00 บาท เพิ่มขึ้น 6.00 บาท

KBANK มูลค่าการซื้อขาย 1,234.44 ล้านบาท ปิดที่ 123.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ