นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม. ขอแจ้งข้อเท็จจริงทางคดีเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า เมื่อวานนี้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนัดพร้อมเพื่อกำหนดพยานและกำหนดประเด็นในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งทั้งโจทก์และจำเลยไม่ได้เดินทางไปศาล โดยโจทก์มอบหมายผู้รับมอบอำนาจและทนายความ ส่วนจำเลยมอบหมายให้พนักงานอัยการในฐานะทนายจำเลยเช่นเดียวกัน ซึ่งในกระบวนการพิจารณา ศาลเห็นว่าเนื่องจากคู่ความยังไม่ได้รับเอกสารที่ใช้ในการไต่สวนครบถ้วน ศาลจึงเห็นควรเลื่อนนัดพร้อม เพื่อกำหนดพยานและกำหนดประเด็นในการไต่สวนมูลฟ้องออกไปเป็นวันที่ 25 ต.ค.64 เวลา 13.00 น.
ประเด็นเรื่องข้อเท็จจริงทางคดีเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ตามที่ รฟม.ได้เคยชี้แจงไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ย.64 ยังคงยืนยันข้อเท็จจริงตามที่มีการแถลงว่า ปัจจุบันมีการฟ้องคดีรวมจำนวน 3 คดี แบ่งเป็นคดีที่อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองกลาง จำนวน 2 คดี ได้แก่ คดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 และคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 และเป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้องของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จำนวน 1 คดี คือ คดีหมายเลขดำที่ อท.30/2564
คดีหมายเลขดำที่ อท.30/2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางนัดพร้อมเพื่อกำหนดพยานและกำหนดประเด็นในชั้นไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 25 ต.ค.64 หลังจากนั้นเมื่อมีการกำหนดประเด็นแล้ว ศาลจึงจะนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีดังกล่าวต่อไป ดังนั้น ปัจจุบันคดีนี้ศาลจึงเพียงแต่รับคำฟ้องของโจทก์ไว้ไต่สวนมูลฟ้องเท่านั้น แต่ยังมิได้มีการรับฟ้องคดีดังกล่าวไว้พิจารณาแต่อย่างใด
ส่วนคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่จำหน่ายคดีในข้อหาที่ฟ้องขอให้เพิกถอนหลักเกณฑ์ร่วมลงทุนที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับการเพิกถอนหลักเกณฑ์อยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองอีกต่อไป คงเหลือแต่ข้อหาที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดจำนวน 500,000 บาท เท่านั้น
และคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางที่ไม่รับคำฟ้องข้อหาเกี่ยวกับการการกระทำละเมิด และคำขอห้ามมิให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม. กระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนในโครงการพิพาทครั้งใหม่ ไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม. ตามกฎหมาย ดังนั้น จึงไม่มีประเด็นพิพาทเกี่ยวกับการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในครั้งใหม่อีกต่อไป คงเหลือแต่ข้อหาที่ผู้ฟ้องคดีขอให้เพิกถอนหรือยกเลิกมติหรือประกาศที่ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการนี้เท่านั้น
ดังนั้น รฟม. ขอยืนยันว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่กฎหมาย รวมถึงมติคณะรัฐมนตรี และมติคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนกำหนดอย่างครบถ้วนแล้ว
"สรุปคดีอาญาฯนั้น ตอนนี้อยู่ในชั้นไต่สวน ศาลยังประทับรับฟ้อง ซึ่งต้องรอฟังคำสั่งหลังจากนี้ ซึ่งเป็นเรื่องการฟ้องการดำเนินการมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่ได้มีการพูดถึงการระงับการเชิญชวนเอกชนร่วมทุนฯครั้งใหม่ ส่วนคดีทางปกครองยังเหลือ เรื่องที่เอกชนฟ้องละเมิดชดใช้ค่าเสียหาย 5 แสนบาท และเรื่องขอให้เพิกถอนการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนครั้งแรก ส่วนประเด็นที่ห้ามไม่ให้รฟม.ประมูลคัดเลือกเอกชนรอบใหม่นั้น ศาลลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในเรื่องนี้รฟม.จะดำเนินการคัดเลือกเอกชนใหม่ต่อไป"ผู้ว่าฯรฟม.กล่าว
นายภคพงศ์ กล่าวว่า เบื้องต้น มีกำหนดนัดหมายประชุมคณะกรรมการมาตรา 36 ในสัปดาห์หน้า โดยอยู่ระหว่างรอกรรมการมาตรา 36 ตอบยืนยัน เพื่อกำหนดวันประชุมที่ชัดเจนต่อไป ซึ่งขณะนี้ตามแผนงานที่ รฟม.กำหนดไว้ คือ จะนำเสนอร่าง RFP ให้คณะกรรมการฯ พิจารณาอนุมัติ และประกาศขายเอกสาร RFP ในเดือน ต.ค.64 จากนั้นจะเปิดให้เอกยื่นข้อเสนอในเดือน ธ.ค.64 และประเมินข้อเสนอช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.65 คาดว่าเจรจาต่อรองได้ข้อยุติในเดือน มี.ค.65 จากนั้นจะเสนอผลการคัดเลือกต่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป
นายภคพงศ์ กล่าวว่า ในการประมูลคัดเลือกครั้งแรก มีเอกชน 2 ราย ยื่นข้อเสนอ การร่วมลงทุนฯ จำนวน 2 รายคือ 1. บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) 2. กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์
เมื่อ รฟม.ประกาศยกเลิกการประมูลครั้งแรก ทาง BEM ได้มารับซองเอกสารข้อเสนอและค่าธรรมเนียมซื้อซองคืนแล้ว ส่วนกลุ่มกิจการร่วมค้าฯ นั้น ปรากฎว่า มีบริษัท 1 ในกลุ่มฯ มารับคืนค่าธรรมเนียมการขายเอกสารคัดเลือกไปแล้ว จึงถือว่ากลุ่มกิจการร่วมค้าฯ ถูกถอดจากทะเบียนในการยื่นข้อเสนอทำให้กลุ่มกิจการร่วมค้าฯ สิ้นสุดการเป็นผู้ยื่นข้อเสนอในการร่วมลงทุนดังกล่าว และสิ้นผลผูกพันในกระบวนการคัดเลือกดังกล่าวด้วย แม้สมาชิกอื่นที่เหลือจะไม่ได้มารับเอกสารคืนก็ตาม และถือว่าในการประมูลครั้งแรกไม่มีผู้ยื่นข้อเสนอเหลืออยู่ในกระบวนการคัดเลือก
ส่วนการเปิดคัดเลือกรอบใหม่ เอกชนที่เข้าซื้อซองจะได้สิทธิยื่นข้อเสนอตามปกติ