นายสุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ ผู้อำนวยการด้านการตลาดและบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า กลุ่มบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE) กล่าวว่า ในปี 50 ทรูมูฟจะมีส่วนแบ่งตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ต่ำกว่า 20% ของตลาดรวม โดยในงวด 9 เดือนที่ผ่านมาบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดที่ 22.86% ของยอดผู้ใช้บริการรวมในประเทศไทย 49.3 ล้านเลขหมาย ที่เป็นระบบแบบเติมเงิน(พรีเพด) 89% และเป็นระบบจ่ายรายเดือน(โพสต์เพด) 11%
ขณะเดียวกัน ทรูมูฟ คาดว่าเป้าหมายมีส่วนแบ่ง 1 ใน 3 ของยอดลูกค้าใหม่ในบริการโทรศัพท์มือถือปีนี้ ก็น่าจะเป็นไปตามที่คาดไว้ โดยสิ้นไตรมาส 3/50 ทรูมูฟมีส่วนแบ่งตลาดแล้ว 36.16% ของตลาดรวม 10 ล้านราย ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา
"การที่ผู้ให้บริการมีมาร์เก็ตแชร์ 20% ขึ้นไป ถือว่าเข้าข่ายเป็นผู้ให้บริการที่แข็งแรง ไม่ใช่เป็นรายเล็ก ทรูมูฟเราก็ถือว่าไม่ใช่ผู้เล่นรายเล็กอีกต่อไป"นายสุภกิจ กล่าว
ส่วนแนวโน้มในไตรมาส 4/50 คาดว่าตลาดโทรศัพท์มือถือจะคึกคักในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง โดยคาดว่าตลาดรวมยอดลูกค้าใหม่จะมีประมาณ 3 ล้านเลขหมาย และทรูมูฟคาดจะมีส่วนแบ่งประมาณ 1 ล้านเลขหมาย โดยจะเน้นขยายตลาดต่างจังหวัด โดยเฉพาะในภาคอีสานที่ยังมีโอกาสเติบโตสูง
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 4/50 ยังไม่สามารถประเมินรายได้ และยังไม่มั่นใจว่าจะมีกำไรต่อเนื่องจากไตรมาส 3/50 ที่เป็นไตรมาสที่มีผลประกอบการที่ดีที่สุด โดยมีรายได้(รวม IC) 8.39 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.1% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 213 ล้านบาท ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทรูมูฟที่สามารถทำกำไรตั้งแต่เปิดให้บริการมา จากไตรมาส 2 ที่มีขาดทุนสุทธิ 112 ล้านบาท รวมทั้งยังมีรายรับสุทธิ จากค่า IC จำนวน 77 ล้านบาท เพิ่มจาก 34 ล้านบาทในไตรมาส 2/50
"ไตรมาส 3 เรามีกำไรเป็นครั้งแรกที่เราเปิดให้บริการ เราถึงจุด break even เพราะไตรมาส 3 เรามีกิจกรรรมส่งเสริมการตลาดและมี exclusive content เช่น AF(อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย) ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก และ ทรูมิวสิก แต่ในไตรมาส 4 เรายังประเมินไม่ได้ เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีกำไรเหมือนในไตรมาส 3 หรือไม่" นายสุภกิจกล่าว
ขณะเดียวกันรายได้จาก Non voice ก็เพิ่มขึ้น 9.4%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 648 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10.8% ของรายได้ เพิ่มจากสิ้นปี 49 ที่มีสัดส่วน 9.5% โดยส่วนใหญ่โตจากการให้บริการดาวน์โหลดเพลง(color ring) 60% รองลงมาเป็น sms 28% และ GPRS 12%
ส่วนรายได้ต่อเลขหมายต่อเดือน(ARPU)ในไตรมาส 3/50 ของทรูมูฟที่ลดลงมาอยู่เฉลี่ยที่ 188 บาท/เดือน จาก 216 บาท/เดือน ในไตรมาส 2/50 นายสุภกิจกล่าวว่า บริษัทจะคำนึ่งถึงรายได้เป็นหลักมากกว่า ARPU เพราะมีปัจจัยจากฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นจะทำให้ยอดเฉลี่ยรายได้ต่อเลขหมายลดลง
สำหรับปีหน้า นายสุภกิจ มองว่า การแข่งขันจะเปลี่ยนไปเป็นการให้บริการมีคุณภาพหรือให้ความคุ้มค่ามากขึ้น เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ ไม่ใช่เน้นการเพิ่มลูกค้าใหม่เพียงอย่างเดียว เพราะจะมีการใช้เลขหมายเดียวกันทุกระบบ (number portability)ในปีหน้าที่หมายเลขจะเป็นสิทธิของลูกค้า ซึ่งสามารถเปลี่ยนไปใช้บริการกับผู้ให้บริการอื่นได้หากไม่พึงพอใจรายเดิม ขณะที่ความแตกต่างด้านโครงข่ายและราคาค่าบริการ ระหว่างผู้ให้บริการแทบจะไม่มี
"ปีหน้าเป็นปี Retention War ซึ่งปีหน้าตลาดไม่น่าจะโตไปกว่านี้ ฉะนั้น Operator ต้องให้ความสำคัญการรักษาฐานลูกค้าเดิม โดยปีหน้าจะมี number portability ก็ต้องมีการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการเพื่อรักษาลูกค้าเดิมไว้ให้ได้" นายสุภกิจกล่าว
ทั้งนี้ ทรูมูฟ ยังคงใช้กลยุทธ์ Convergence ที่ผสมผสานกับบริการในกลุ่มทรูที่มีอยู่ทั้งทรูวิชั่นส์ที่ให้บริการเคเบิลทีวี , บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ใช้ร่วมกับทรูมูฟ นอกจากนี้ยังมีคอนเทนต์ที่เป็นข้อแตกต่างที่ให้บริการลูกค้าต่อไป รวมถึงการเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้บริการ เช่น Call center จุดเติมเงิน จุดชำระเงิน ที่จะขยายเพิ่มขึ้น
ณ ก.ย. 50 ทรูมูฟ มีฐานลูกค้าทั้งสิ้น 11.2 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นพรีเพด 10.6 ล้านเลขหมาย และ โพสต์เพด 6.18 แสนเลขหมาย โดยเป็นลูกต้าในกรุงเทพ 40% และ ต่างจังหวัด 60%
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--