ทริสฯคงอันดับเครดิตองค์กร JMT ที่ BBB ปรับแนวโน้มเป็น Positive

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 22, 2021 16:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ที่ระดับ "BBB" พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น "Positive" หรือ "บวก" จาก "Stable" หรือ "คงที่" ซึ่งเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิตของ บมจ.เจมาร์ท (JMART) ที่ได้รับอันดับเครดิต "BBB/Positive" จากทริสเรทติ้ง)

ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นบริษัทลูกหลัก (Core Subsidiary) ของ JMART ซึ่งส่งผลให้อันดับเครดิตของบริษัทอยู่ในระดับเท่ากับอันดับเครดิตของบริษัทเจมาร์ทตาม "เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ" ของทริสเรทติ้ง

การปรับเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทบทวนอันดับเครดิตของ JMART หลังจากที่มีการออกประกาศเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 ที่ระบุว่า บมจ. วีจีไอ (VGI) และ บมจ. ยู ซิตี้ (U) มีความประสงค์จะลงทุนในบริษัทเจมาร์ทและบริษัทร่วมคือ บมจ. ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) โดยธุรกรรมดังกล่าวหากได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นของ JMART ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่จะถึงนี้แล้วจะทำให้ทั้ง JMART และ SINGER ได้รับเงินเพิ่มทุนก้อนใหม่ภายในสิ้นปี 2564 นี้

ในการนี้ บริษัทคาดว่าจะได้รับเงินทุนก้อนใหม่จำนวน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินทุนจำนวน 5.4 พันล้านบาทจะมาจาก JMART และอีกจำนวน 4.6 พันล้านบาทจะมาจากผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่น ๆ (ตามสมมติฐานที่ผู้ถือหุ้นจะใช้สิทธิครบทั้งหมด) โดยเงินทุนก้อนใหม่ที่ได้จะทำให้ฐานทุนของบริษัทแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ทริสเรทติ้งคาดว่าจะปรับอันดับเครดิตองค์กรและอันดับเครดิตหุ้นกู้ของบริษัทเพิ่มขึ้นตามการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ JMART

บริษัทมีบทบาทที่สำคัญในธุรกิจด้านการเงินของกลุ่ม โดยธุรกิจดังกล่าวเป็นธุรกิจหลักที่สำคัญในการดำเนินกิจการของกลุ่มที่มีนโยบายกระจายธุรกิจ บริษัทเป็นผู้สร้างกำไรสุทธิให้แก่กลุ่มมากที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทในกลุ่มเจมาร์ทรายอื่น ๆ ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 รายได้รวมและกำไรสุทธิของบริษัทมีสัดส่วนคิดเป็น 28% และ 70% ของรายได้รวมและกำไรสุทธิรวมของบริษัทเจมาร์ทตามลำดับ

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทมีรายได้อยู่ที่จำนวน 1.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยสัดส่วนรายได้จำแนกออกเป็นรายได้จากธุรกิจรับซื้อและบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ 84% ธุรกิจติดตามเร่งรัดหนี้ 10% และธุรกิจประกันอีก 6% ซึ่งธุรกิจที่ขับเคลื่อนการเติบโตส่วนใหญ่คือธุรกิจรับซื้อและบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทสามารถจัดเก็บหนี้ได้ที่จำนวนประมาณ 2 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึง 14% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และในช่วงเดียวกัน บริษัทยังได้ซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารโดยใช้เงินลงทุนจำนวน 3.3 พันล้านบาทเมื่อเทียบกับจำนวน 3.5 พันล้านบาทที่ใช้ลงทุนไปในปี 2563

ทั้งนี้ บริษัทวางแผนจะนำเงินทุนก้อนใหม่ที่ได้มาจากการเพิ่มทุนไปใช้ซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารเพิ่มเติมที่จำนวนประมาณ 7.3 พันล้านบาทและจะใช้ในการจ่ายชำระหนี้เงินกู้ที่จำนวนประมาณ 2.7 พันล้านบาทภายในช่วงปี 2565-2566

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทมีมูลหนี้คงค้างสำหรับหนี้ด้อยคุณภาพอยู่ที่จำนวน 2.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2.1 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งเป็นส่วนที่ตัดจำหน่ายต้นทุนครบแล้วที่จำนวน 5 หมื่นล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นถึง 6.3 พันล้านบาทจากสิ้นปี 2563 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอยู่ที่ระดับ 50.4% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้นจากระดับ 44.7% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563

แนวโน้มอันดับเครดิต "Positive" หรือ "บวก" เป็นไปตามแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเจมาร์ท

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทจะเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตของ JMART และในกรณีที่สถานภาพภายในกลุ่มของบริษัทที่มีต่อ JMART ลดความสำคัญลงไปอย่างมีนัยสำคัญก็อาจส่งผลต่อการปรับลดอันดับเครดิตของบริษัทได้เช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ