โบรกเกอร์ แนะ"ซื้อ"หุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) หลังประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจเป็น Holding company ภายใต้ SCBX หนุนความได้เปรียบคู่แข่งในการขยายธุรกิจด้าน Digital เทรนด์อนาคต และจะช่วยให้การขยายธุรกิจด้านต่างๆทำได้ง่ายมากขึ้น เนื่องจากบางธุรกิจไม่จำเป็นต้องอยู่ใต้กฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
SCBX แบ่งธุรกิจเป็นกลุ่ม cash cow และ growth โดย Cash cow มีการเติบโตที่มั่นคง ความเสี่ยงต่ำ ROE ต่ำ เช่น ธุรกิจธนาคารและการบริหารสินทรัพย์ คิดเป็น 85% ของรายได้ทั้งหมด อีกกลุ่มหนึ่งมีศักยภาพในการเติบโตสูงและ ROE สูง ซึ่งคิดเป็น 15% ของกำไร ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจสินเชื่อและหลักทรัพย์ที่ไม่มีหลักประกัน ผู้บริหารตั้งเป้าเพิ่มรายได้ 150% และธุรกิจที่เติบโตจะมีสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสามของรายได้ทั้งหมดภายในปี 69
นอกจากนี้ แผน 5 ปี ผู้บริหารตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนลูกค้าเป็น 200 ล้านคนด้วยการร่วมพันธมิตรเชิงรุกและการควบรวมกิจการ จากลูกค้า 40-50 ล้านคนในปัจจุบัน และยังตั้งเป้ามาร์เก็ตแคปมากกว่า 1 ล้านล้านบาท
SCBX ตั้งเป้าเป็นผู้นำด้านสินทรัพย์ดิจิทัลและการวิเคราะห์ข้อมูลเทคโนโลยี โดยมีแผนจะเสนอขายหุ้น IPO บริษัท CardX (บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล), Auto X (สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์), SCB Securities (พร้อมบริการสินทรัพย์ดิจิทัล) MONIX และ SCB ABACUS (สินเชื่อดิจิทัล) ใน 3-5 ปีข้างหน้า
พักเที่ยงราคาหุ้น SCB อยู่ที่ 131.00 บาท เพิ่มขึ้น 21.50 บาท หรือ 1.22% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย บวก 0.45%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) ดีบีเอสวิคเคอร์ส ซื้อ 140 กสิกรไทย ซื้อ 139 ทรีนีตี้ฯ ซื้อ 139 ยูโอบี เคย์เฮียน ซื้อ 136 ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 136 ทิสโก้ ซื้อ 136 เอเชีย เวลท์ ซื้อ 134 เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ ซื้อ 130 คันทรี่ กรุ๊ป ซื้อ 124.50 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซื้อ 122 ฟิลลิปฯ ซื้อ 121
นายมงคล พ่วงเภตรา ผู่ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบีเอสที เปิดเผยว่า SCB ได้มีการประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจเป็น Holding company ชื่อ SCBX จะหนุนให้ได้เปรียบคู่แข่งในการขยายธุรกิจที่เป็น Digital ที่เป็นเทรนด์ของอนาคต และจำช่วยให้การขยายธุรกิจด้านต่างๆทำได้ง่ายมากขึ้น เนื่องจากบางธุรกิจไม่จำเป็นต้องอยู่ใต้กฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
นอกจากนี้จะสามารถร่วมมือพันธมิตรด้านต่างๆได้คล่องตัวมากขึ้น ซึ่งจะเข้ามาช่วยในการขยายฐานลูกค้าของบริษัทได้มากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาจะเห็นการร่วมกับ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพีจี) และร่วมมือกับ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC)
"ใน 2 ปี ข้าหน้า ROE มีโอกาสที่จะปรับขึ้นแตะระดับ 15-20% และเรายังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 64 ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 28% จากการสำรองที่ปรับตัวลดลง โดยในช่วงครึ่งปีหลังทิศทางกำไรสุทธิจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในปีก่อนที่มีการตั้งสำรองในระดับสูง นอกจากนี้ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการขยายธุรกิจในอนาคตหลังจากที่มีการตั้งเป็น Holding company ที่จะได้เปรียบคู่แข่งในการขยายธุรกิจด้าน Digital ด้วย"นายมงคล กล่าว
ด้าน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มีมุมมองเชิงบวกต่อแผนการปรับโครงสร้างโดยตั้ง SCBX เป็นบริษัทโฮลดิ้งและเพิกถอนหุ้นด้วย SCBX แบบหุ้นต่อหุ้น 1:1 โดยจะต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 15 พ.ย. โดยจะมีการโอนเงินครั้งเดียวมูลค่า 7 หมื่นล้านบาทจาก SCB ไปยัง SCBX สำหรับการโอนธุรกิจสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (70% หรือ 4.9 หมื่น ลบ.) และการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นสำหรับ SCBx (30% หรือ 2.1 หลื่น ลบ.) คาดว่า SCBx จะจ่ายเงินปันผลพิเศษ 5.1-6.2 บาท/หุ้นในไตรมาส 2/65 ภายใต้ SCBX
ทั้งนี้ ภายใต้ SCBX จะแบ่งธุรกิจเป็นสองกลุ่ม (cash cow และ growth) โดย Cash cow มีการเติบโตที่มั่นคง ความเสี่ยงต่ำ ROE ต่ำ เช่น ธุรกิจธนาคารและการบริหารสินทรัพย์ ซึ่งคิดเป็น 85% ของรายได้ทั้งหมด อีกกลุ่มหนึ่งมีศักยภาพในการเติบโตสูงและ ROE สูง ซึ่งคิดเป็น 15% ของกำไรส่วนใหญ่มาจากธุรกิจสินเชื่อและหลักทรัพย์ที่ไม่มีหลักประกัน ผู้บริหารตั้งเป้าที่จะเพิ่มรายได้ 150% และธุรกิจที่เติบโตจะมีสัดส่วนมากกว่าหนึ่งในสามของรายได้ทั้งหมดภายในปี 69
นอกจากนี้แผน 5 ปี ผู้บริหารตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนลูกค้าเป็น 200 ล้านคนด้วยการร่วมพันธมิตรเชิงรุกและการควบรวมกิจการ จากลูกค้า 40-50 ล้านคน ในปัจจุบัน และยังตั้งเป้าหมายมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) มากกว่า 1 ล้านล้านบาท (รวมถึงการเสนอขายหุ้น IPO ของบริษัทย่อยและสตาร์ทอัพยูนิคอร์น)
SCBx ตั้งเป้าเป็นผู้นำด้านสินทรัพย์ดิจิทัลและการวิเคราะห์ข้อมูลเทคโนโลยี โดยมีแผนจะเสนอขายหุ้น IPO บริษัท CardX (บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล), Auto X (สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์), SCB Securities (พร้อมบริการสินทรัพย์ดิจิทัล) MONIX และ SCB ABACUS (สินเชื่อดิจิทัล) ใน 3-5 ปีข้างหน้า
พร้อมกันนี้ SCB ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับ ADVANC เพื่อจัดตั้ง AISCB ด้วยทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท เพื่อให้บริการสินเชื่อดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ธนาคารยังได้จัดตั้งกองทุนร่วมลงทุนมูลค่า 600-800 ล้านเหรียญสหรัฐกับกลุ่มซีพี เพื่อลงทุนในธุรกิจ Fin tech เช่น บล็อกเชนและ Decentralized Finance (DeFi) คือระบบการเงินรูปแบบใหม่ด้วย
ด้าน บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า ปัจจุบันมองแนะนำการลงทุนในหุ้น SCB จากการแนวทางการเปิดเมืองของประเทศไทยที่จะเข้ามาช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และคาดว่าทุกๆธนาคารจะมีการฟื้นตัวเช่นกัน โดย SCB มีปัจจัยเร่งจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เหนือกว่ากลุ่มอื่นๆ และการลดค่าใช้จ่ายอื่นๆทำให้เลือกเป็น Top Buy ในกลุ่มแบงก์
นอกจากนี้ยังชอบในแนวคิดการปรับโครงสร้าง โดยมีเหตุผลหลักคือ ความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านฟินเทคที่กฎระเบียบต่างๆ ยังคงพัฒนาอยู่ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าจากบริษัทในเครือผ่านการ IPO ที่คาดการแยกธุรกิจบัตรเครดิต และธุรกิจสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันน่าจะนำไปสู่การประเมินมูลค่าที่ดีขึ้น
โดยการจัดตั้งบริษัทลูกหลายบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายในระยะสั้น และกดดันแนวโน้มกำไรในช่วงดังกล่าว การแยกธุรกิจสินเชื่อไม่มีหลักประกันอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเนื่องจากการดำเนินการซ้ำซ้อน แต่ประเด็นต้นทุนส่วนนี้จะค่อยๆ หมดไป หลังบริษัทลูกเริ่มสร้างรายได้ คาดกำไรในอนาคตจะเพิ่มขึ้นจากกำไรที่คาดว่าจะได้รับจากการ IPO หุ้นในเครือ