การกลับตัวเป็นขาขึ้นรอบใหม่ของราคาหุ้น บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART) สะท้อนผ่านความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนที่มีเพิ่มมากขึ้น กำลังกลายเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญถึงโอกาสการเติบโตของผลประกอบการในอนาคต ที่แม้ว่าช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาจะเผชิญกับกระแสความกังวลตกเป็นผู้ถูกดิสรัปชั่นของหลายๆ ตัวแปร
ล่าสุด บริษัทปรับกลยุทธ์ใหม่ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีให้บริการด้านการเงินแบบครบวงจรในฐานะตัวแทนของสถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายแห่ง ในบางมิติ FSMART ก็กำลังกลายเป็นผู้ไปดิสรัปผู้อื่นได้เช่นกัน ทำให้ในวันนี้เริ่มได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันทั้งในไทยและต่างชาติเข้ามาถือหุ้นเพิ่มขึ้นจากในอดีต
*เชื่อปรับโมเดลธุรกิจใหม่บาดตากองทุนต่างชาติ
นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ FSMART เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า แนวโน้มราคาหุ้น FSMART ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนที่มีต่อการปรัลกลยุทธ์ใหม่และเริ่มเห็นความสำเร็จของการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันที่เป็นกองทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนมากให้ความสนใจเข้ามาขอข้อมูลและสอบถามถึงภาพรวมธุรกิจในอนาคต ล่าสุดพบว่ามีผู้ลงทุนสถาบันมีสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 5%
*ฝ่ากระแสดิสรัปชั่น ธุรกิจพร้อมเข้าสู่รอบขาขึ้น
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าก่อนหน้านี้บริษัทประกอบธุรกิจหลักคือตู้เติมเงินมือถือผ่าน "ตู้บุญเติม" เป็นการรับรู้รายได้จากค่าธรรมเนียมเกือบทั้ง 100% ของรายได้รวม ซึ่งช่วงนั้นธุรกิจเป็นขาขึ้นชัดเจนส่งผลให้ภาพรวมผลประกอบการชมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดตามการขยายตู้เติมเงินมากกว่า 1 แสนตู้
แต่เมื่อย้อนหลังไปช่วง 4-5 ปีก่อนบริษัทเจอกับความท้าทายรอบด้าน กลายเป็นความกังวลเชิงลบต่อความเชื่อมั่นผู้ลงทุนในหุ้น FSMART จนทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างมาก ทั้งจากตัวแปรการเข้ามาของ "Mobile Banking" โอนเงินฟรีค่าบริการของธนาคาร ประกอบกับภาวะการแข่งขันรุนแรงมากขึ้นทั้งจากคู่แข่งที่ไม่ใช่ Operator และเป็น Operator ค่ายมือถือรายใหญ่ได้นำตู้เติมเงินเข้ามาให้บริการแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด
"ก่อนหน้านี้เราเคยโดนดิสรัปชั่น แต่วันนี้เราบอกได้เลยว่าได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วและอยู่ในช่วงขาขึ้นชัดเจน ผลกระทบครั้งนั้นเป็นที่มาของการปรับกลยุทธ์ใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยงไม่กระจุกเพียงแค่ธุรกิจตู้เติมเงินเพียงอย่างเดียว ด้วยการเพิ่มบริการใหม่ๆเข้าไปตอบโจทย์ความต้องการของฐานลูกค้าเดิมที่จำนวนมาก พร้อมกับหันเข้าสู่ธุรกิจการเงินแบบครบวงจรเริ่มตั้งแต่การเป็นตัวแทนของธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งที่ปัจจุบันเข้าร่วมแล้ว 7 แห่ง และช่วงปลายปี 2564 บริษัทจะได้รับเป็นตัวแทนจากธนาคารขนาดใหญ่เพิ่มอีก 1 แห่งรวมทั้งสิ้นเป็น 8 แห่ง และธุรกิจการปล่อยสินเชื่อ
และล่าสุดมีธุรกิจ Vending Machine เป็นเครื่องประเภทจำหน่ายเครื่องดื่ม ที่มีความทันสมัยเป็นจอบริการแบบดิจิทัล สามารถส่งข้อมูลเรียลไทม์ ส่งผลให้คำนวณต้นทุนการบริหารจัดการค่าใช้จ่าย Vending Machine ได้เป็นอย่างดี"นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
*ดีเดย์ปลาย ก.ย. Mini ATM ถอนเงินขั้นต่ำ 20 บาทผ่านตู้บุญเติม
สำหรับการพัฒนาระบบการให้บริการธุรกิจการเงินแบบครบวงจรนั้น ปัจจุบันบริษัทมีบริการทางการเงินหลากหลายรูปแบบในฐานะตัวแทนของธนาคารขนาดใหญ่จากเดิมที่บริษัทให้บริการ "โอน-ฝาก" เงินผ่านตู้บุญเติมเท่านั้น แต่ปีนี้ได้พัฒนาการให้บริการเพิ่มขึ้นคือการเปิดบัญชีใหม่และบริการ Mini ATM สามารถถอนเงินได้ขั้นต่ำ 20 บาท หรือเรียกว่าวันนี้ "ตู้บุญเติม" กลายเป็นธนาคารชุมชนที่มีบริการการเงินแบบครบวงจร
"ยกตัวอย่างของตู้ ATM เป็นแบบ CDM ของธนาคารที่ให้บริการทั่วประเทศมีจำนวนกว่า 55,000 ตู้ แต่ตู้บุญเติมวันนี้มีจำนวนกว่า 130,000 ตู้ทั่วประเทศเป็นบริการในพื้นที่ชุมชนระดับหมู่บ้าน เบื้องต้นเริ่มให้บริการถอนเงินผ่านตู้บุญเติมช่วงปลายเดือน ก.ย.64 เป็นต้นไป แบ่งเป็นเฟสแรกให้บริการจำนวน 200 ตู้ และภายใน 2 ปีข้างหน้ามีแผนเพิ่มเป็น 10,000 ตู้ เป็นลักษณะการปรับปรุงจากตู้เดิมเพียงใส่อุปกรณ์เพิ่มส่วนของขาตู้เข้าไปเท่านั้น ส่วนการถอนเงินช่วงแรกก็สามารถใช้แอพพลิเคชั่นของธนาคารดำเนินการผ่านตู้บุญเติมก็สามารถถอนเงินได้แล้ว ส่วนเฟสถัดไปจะเพิ่มการใช้บัตรประชาชนถอนเงินได้เช่นกันเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้เข้ามาใช้บริการ"นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ตามข้อมูลในปัจจุบันพบว่าธุรกรรมการฝากเงินผ่านตู้ ATM เป็นแบบ CDM ของธนาคารเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 20 ล้านรายการ ซึ่งในสัดส่วน 10% หรือประมาณ 2 ล้านรายการต่อเดือนมาจากตู้บุญเติม แต่เมื่อมองถึงธุรกรรมการถอนเงินที่ปัจจุบันมีการทำรายการมากกว่าการฝากเงินถึง 8 เท่า หรือคิดเป็น 180 ล้านรายการต่อเดือน ดังนั้นการเพิ่มบริการถอนเงินผ่านตู้บุญเติมจะเป็นส่วนผลักดันสร้างการเติบโตของรายได้ในระยะถัดไปอย่างมีนัยสำคัญ
"ก่อนหน้านี้เราเคยโดนดิสรัปชั่น แต่วันนี้เราบอกได้เลยว่าได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วและอยู่ในช่วงขาขึ้นชัดเจน หลังจากปรับกลยุทธ์ใหม่ด้วยการปรับสัดส่วนพึ่งพิงรายได้มาจากหลายธุรกิจ สะท้อนจากโครงสร้างรายได้ธุรกิจปัจจุบันบริษัทพึ่งพิงรายได้ค่าธรรมเนียมเติมเงินมือถือเหลือ 40% จากเดิมเกือบเต็ม 100% สัดส่วนอีกกว่า 50% มาจากรายได้จากการเป็นตัวแทนของธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งธุรกิจนี้ไม่ได้โดนดิสรัปชั่นเป็นการเข้าไปช่วยเหลือธนาคารให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่เหลือมาจากธุรกิจสินเชื่อและ Vending Machine วันนี้ยังคงเห็นการเติบโตในทิศทางที่ดีและที่สำคัญคือพอร์ตแต่ละธุรกิจเริ่มมีสมดุลกันมากขึ้น"นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว
*เชื่อมั่น 4-5 ปีข้างหน้าผลงานโตทะลุเท่าตัว ชูคาเฟ่ "เต่าบิน" ยอดขายแตะหมื่นล้าน
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าภาพรวมผลประกอบการปีนี้อาจจะมีผลกระทบสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ไปบ้าง แต่โดยรวมแล้วยังสามารถประคองผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโตได้เป็นอย่างดี ส่วนภาพรวม 4-5 ปีข้างหน้ามีความเชื่อมั่นว่าแนวโน้มผลประกอบการจะเติบโตไม่ต่ำกว่าเท่าตัวจากรายได้แต่ละปีจะเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 3 พันล้านบาท เพราะทิศทางธุรกิจการเงินแบบครบวงจรมีโอกาสเติบโตในอัตราเร่ง เบื้องต้นวางเป้าหมายการเติบโตไม่ต่ำกว่า 20-30% ต่อปี ส่วนธุรกิจ Vending Machine แม้ว่าปัจจุบันอยู่ขั้นเริ่มต้น แต่หลังจากนี้เมื่อเริ่มวางตู้ตามทำเลยุทธศาสตร์ เชื่อมั่นว่าธุรกิจ Vending Machine จะเป็นหนึ่งธุรกิจที่เข้ามาเสริมศักยภาพทำกำไรได้ดีขึ้น
ขณะที่ล่าสุดบริษัทพัฒนาเครื่องชงเครื่องดื่มร้อนและเย็น เป็นลักษณะการให้บริการคาเฟ่อัตโนมัติแบรนด์ "เต่าบิน" มองเป็นธุรกิจที่จะเข้ามาดิสรัปชั่นร้านกาแฟ โดยมีเครื่องดื่มร้อนและเย็นมากกว่า 100 เมนู หนึ่งในนั้นมีเครื่องดื่มผสมกัญชงและเครื่องดื่มสมุนไพร อีกทั้งมีจุดบริการที่เข้าถึงง่าย ทำให้เสียงตอบรับดีมากจากยอดขายเฉลี่ยต่อตู้ต่อวันอยู่ที่ 50 แก้ว ปัจจุบันมีจุดบริการ 100 จุด เร่งให้ได้ 1,000 ตู้ ในปีนี้และ 20,000 ตู้ภายใน 3 ปี คาดยอดขาย 1 ล้านแก้วต่อวันสร้างยอดขายต่อปีมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท
https://youtu.be/fE65g5fsnVg