นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทเตรียมจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น (EGM) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าไพตัน ประเทศอินโดนีเชีย กำลังการผลิตราว 900 เมกะวัตต์ มูลค่ารวม 25,421 ล้านบาท
รวมถึงเตรียมปิดดีลซื้อกิจการโรงไฟฟ้าอีก 2 ดีล ในไตรมาส 4/64 ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศอินโดนีเซีย มูลค่า 1,500 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงธรรมชาติและชีวมวลในไทย อีกราว 4,500 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากดีลทั้งหมดประสบผลสำเร็จจะทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ โดยวางงบลงทุนรวมทั้ง 3 ส่วนดังกล่าวไว้ที่ 31,000 ล้านบาท และส่งผลให้สิ้นปีนี้ RATCH จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 9,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 8,292 เมกะวัตต์ ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นราวปีละ 700 เมกะวัตต์
นายกิจจา กล่าวว่า ภายใต้กลยุทธ์และเป้าหมายการดำเนินงานของ RATCH จากนี้ไปยังคงมุ่งเน้นในธุรกิจผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท และเปิดกว้างการลงทุนในธุรกิจที่มีรายได้มั่นคง หรือใกล้เคียงกับธุรกิจโรงไฟฟ้า รวมถึงธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพการเติบโตในอนาคต
"ปัจจุบันแผนการดำเนินงานของบริษัทฯ ก็มุ่งเน้นใน 3 เรื่อง 1. การสร้างการเติบโตทางธุรกิจ ผ่านการเพิ่มกำลังผลิต การลงทุนธุรกิจใหม่ๆ ตลอดจนการสร้างมูลค่ากิจการให้เพิ่มขึ้น 2.การขยายเครือข่ายพันธมิตร เพื่อเกื้อหนุนการเติบโตของธุรกิจ และ 3. การให้ความสำคัญกับ ESG เพื่อเดินหน้าไปสู่แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน"นายกิจจา กล่าว
RATCH ตั้งเป้าหมายในปี 68 จะมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 10,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 8,292 เมกะวัตต์ จากการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังกำหนดเป้าหมายมูลค่ากิจการไว้ที่ประมาณ 120,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 120,830 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนในลักษณะการเข้าซื้อกิจการ (M&A) จะช่วยให้มูลกิจการของบริษัทเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
รวมถึงบริษัทยังได้กระจายการลงทุนไปยังโครงการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานและธุรกิจอื่นที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงในระยะยาว โดยกำหนดเป้าหมายไว้ปีละ 5% ของงบลงทุน อีกทั้งยังสามารถสร้างฐานธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลไกทำให้การขยายและต่อยอดการลงทุนมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ได้แก่ สปป.ลาว ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นต้น
สำหรับโครงสร้างการลงทุนของบริษัท ปัจจุบันได้กำหนดสัดส่วนไว้ที่ 80% เป็นธุรกิจผลิตไฟฟ้า และอีก 20% เป็นธุรกิจระบบสาธารณูปโภค และอื่นๆ ขณะที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 8,292 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น กำลังการผลิตในประเทศ 63% และ ต่างประเทศ 37% ซึ่งในส่วนนี้เป็นพลังงานทดแทน 15% โดยคาดการณ์ว่าในปี 68 จะมีการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 50% เพื่อสอดรับกับเป้าหมายการเพิ่มรายได้จากต่างประเทศ 50% โดยมองการขยายไปยังประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ไต้หวัน บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ เป็นต้น
อีกทั้งในปี 68 จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทนให้ได้ประมาณ 25% หรือ 2,500 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันก็อยู่ระหว่างการเจรจาอยู่หลายโครงการ
ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ต.หินกอง อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงหลัก ขนาดกำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็น 2 เครื่อง เครื่องละ 700 เมกะวัตต์ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยมีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 67 และปี 68 ตามลำดับ ยังคงเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้เดิม
นายกิจจา กล่าวว่า ตนเองจะเกษียณอายุการทำงานในวันที่ 30 ก.ย.64 โดยจะส่งมอบตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ให้แก่นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 ต.ค.นี้
ด้านนางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล ว่าที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH กล่าวว่า จากการวางแนวทางการดำเนินธุรกิจของ RATCH ในหลายๆ ด้านในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จากนี้จะเข้ามาสารต่อภารกิจต่างๆ โดยแบ่งเป็น 3 ภารกิจหลัก ประกอบด้วย
1. การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ในธุรกิจ ผลิตไฟฟ้าและเกี่ยวเนื่อง โดยสารต่อการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าให้บรรลุเป้าหมาย 700 เมกะวัตต์ต่อปี และลงทุนธุรกิจใหม่ในปีนี้ เช่น ขยายการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้า SPP IPS และพลังงานทดแทนในประเทศ, เจรจาการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าไพตัน และโครงการพลังงานทดแทนในอินโดนีเซีย คาดว่าจะปิดดีลได้ในสิ้นปี 64, เดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในสปป.ลาวและเวียดนาม และการร่วมทุนธุรกิจเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าในอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตามในส่วนของธุรกิจผลิตไฟฟ้าและเกี่ยวเนื่องนี้ บริษัทฯ จะเข้าไปทำ M&A โดยมุ่งเน้นในโครงการที่เป็น Brownfield Greenfield เนื่องจากสามารถรับรู้รายได้เข้ามาทันที
ด้านธุรกิจระบบ สาธารณูปโภคพื้นฐานและอื่นๆ บริษัทฯ จะร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ โดยที่ผ่านมสก็ได้ดำเนินการไปแล้วคือ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ หรือเฮลท์แคร์ , การเข้าร่วมประมูลโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน (PPP Scheme) ของภาครัฐ และการลงทุนด้านนวัตกรรมร่วมกับกลุ่มการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) โดยการดำเนินธุรกิจดังกล่าวจะมุ่งเน้นการเข้าไปร่วมลงทุน (JV)
2. รักษาสภาพคล่องและสถานะทางการเงินให้มีความมั่นคง สามารถรองรับการลงทุนในอนาคต และสร้างผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น โดยการบริหารและวางแผนการเงินเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการลงทุน เพื่อให้เป้าหมายกำลังการผลิต 10,000 เมกะวัตต์ และมูลค่ากิจการ 200,000 ล้านบาท บรรลุผลสำเร็จ
โดยจะนำความรู้และประสบการณ์เข้ามาเสริมในการบริหารการลงทุนการเงิน ครอบคลุมตั้งแต่การจัดการประสิทธิภาพการใช้งบลงทุน การจัดหาแหล่งเงินทุนหรือเครื่องมือทางการเงินที่มีต้นทุนสมเหตุสมผลและเหมาะกับลักษณะของโครงการสำหรับรองรับการลงทุนในช่วง 5 ปีข้างหน้า ตลอดจนการบริหารจัดการผลตอบแทนหรือรายได้ของกิจการที่ลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่ากระแสเงินสดของบริษัทมีความมั่นคงและแข็งแกร่ง
3. สานต่อและผลักดันกิจกรรม การดำเนินงานที่สนับสนุนเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 25% ในปี 68 ได้แก่ การเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานทดแทน 250 เมกะวัตต์ต่อปี ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ, โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ (Floating, Rooftop), โครงการพลังงานลมและโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงสานต่อและขยายผลโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจมาตรฐานประเทศไทย