บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) เผย ในไตรมาส 3 ปี 50 จำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่"ทรูมูฟ" ,โทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก"ทรูวิชั่นส์" เติบโตน่าพอใจ โดยทรูมูฟสร้างสถิติใหม่เพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการได้ประมาณ 2.1 ล้านราย ในขณะที่รายได้จากบริการโดยรวมของกลุ่มทรูและ EBITDA เพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในไตรมาสนี้ ทรูมูฟมียอดผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้น 11.2 ล้านราย โดยสามารถเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่ได้ประมาณ 2.1 ล้านราย จากรายการอะคาเดมี่แฟนเทเชีย (AF 4) เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ยอดผู้ใช้บริการทรูมูฟในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น
ทำให้ส่วนแบ่งตลาดผู้ใช้บริการรายใหม่ของทรูมูฟ ในไตรมาสนี้คิดเป็นร้อยละ 70 ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดโดยรวมใน 9 เดือนแรกของปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35 และคาดว่าจะสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ในอัตราร้อยละ 33 ณ สิ้นปี 50 ตามเป้าหมาย โดยในขณะนี้ ทรูมูฟมีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็นร้อยละ 22.7
ส่วนการให้บริการบรอดแบนด์สำหรับลูกค้าทั่วไปมีจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่เพิ่มขึ้น 22,000 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ใช้บริการรวมเป็น 526,000 ราย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 50 ซึ่งเป็นผลมาจากโปรโมชั่น Super hi-speed package ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน มีผู้สมัครใช้บริการทั้งสิ้นประมาณ 282,000 ราย
ในไตรมาส 3 ปี 2550 ทรูวิชั่นส์มีผู้ใช้บริการรายใหม่เพิ่มขึ้น 28,000 ราย (เพิ่มขึ้นจาก 1,200 รายในไตรมาส 2) ทำให้มียอดผู้ใช้บริการโดยรวมทั้งสิ้น 597,000 ราย โดยเป็นผลจากคอนเทนต์สำคัญๆ ซึ่งประกอบด้วย อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก รวมทั้งการเปิดตัวช่องรายการใหม่ๆ นอกจากนี้แคมเปญสำหรับตลาดระดับล่าง ซึ่งเป็นโปรโมชั่นที่ทำร่วมกับทรูมูฟ ยังคงได้รับการตอบรับอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้ใช้บริการรวมประมาณ 318,000 และหากนับรวมจำนวนผู้ใช้บริการกลุ่มนี้ ทรูวิชั่นส์จะมีจำนวนผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้นเกือบ 900,000 ราย
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร TRUE กล่าวว่า ในไตรมาส 3 นี้ นอกเหนือจากรายการอะคาเดมี่ แฟนเทเชีย (AF4) แล้ว กลุ่มทรูยังให้บริการคอนเทนต์คุณภาพอื่นๆ อาทิ รายการฟุตบอลพรีเมียร์ลีกและรายการกีฬาอื่นๆ เพลงและสาระบันเทิงอื่นๆ ซึ่งนำเสนอผ่านทุกช่องทางต่างๆ ของกลุ่ม รวมทั้งบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ บรอดแบนด์ และโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิก
"ยุทธศาสตร์ผู้นำชีวิต Convergence Lifestyle เป็นปัจจัยหลักที่ช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการของทรูมูฟเพิ่ม การที่เราสามารถนำเสนอบริการคอนเทนต์คุณภาพ จากการผสมผสานบริการต่างๆ ภายในกลุ่มทรู (ในลักษณะของบริการแบบ Convergence) ถือเป็นความได้เปรียบในการแข่งขันสำหรับทรูมูฟและธุรกิจหลักอื่นๆ ภายในกลุ่ม ซึ่งช่วยเพิ่มยอดผู้ใช้และสร้างความผูกพันต่อแบรนด์ไปพร้อมๆ กัน" นายศุภชัย กล่าว
ในไตรมาส 3 ปี 50 มีกำไรสุทธิจำนวน 1.2 พันล้านบาท เปรียบเทียบกับขาดทุนสุทธิจำนวน 595 ล้านบาทในไตรมาสที่ผ่านมา และ ขาดทุนสุทธิ 1.2 พันล้านบาทในไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากค่าเสื่อมราคาที่ลดลง จากการขยายประมาณการอายุการใช้งานของสินทรัพย์ (Estimated Useful Life) ทั้งนี้เพื่อสะท้อนถึงอายุการใช้งานที่แท้จริง โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว
ทำให้ค่าเสื่อมราคาในงวด 9 เดือนแรกของปี 2550 ลดลงทั้งสิ้น 3.9 พันล้านบาท (ผลกระทบสุทธิประมาณ 2.8 พันล้านบาท ภายหลังจากการหักค่าภาษีรอการตัดจ่ายที่เพิ่มขึ้น) ซึ่งทั้งจำนวนได้ถูกสะท้อนในผลประกอบประจำไตรมาส 3 ปี 2550 ทั้งนี้ บริษัทมิได้ปรับปรุงค่าเสื่อมราคาย้อนหลังในปี 2549
ขณะที่รายได้จากการให้บริการโดยรวมของทรู ในไตรมาสนี้มีจำนวน 15.2 พันล้านบาท (รวมรายได้จากค่าเชื่อมโยงโครงข่าย หรือ IC) ลดลงในอัตราร้อยละ 3.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (โดยส่วนใหญ่เนื่องจากรายได้จาก IC ลดลง) แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 จากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา
หากไม่รวมรายได้จากค่าเชื่อมโยงโครงข่าย รายได้จากการให้บริการโดยรวมของทรูลดลงในอัตราร้อยละ 1.4 จากไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1จากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา
กำไรจากการดำเนินงาน ก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย หรือ EBITDA มีจำนวนทั้งสิ้น 4.7 พันล้านบาท โดยลดลงในอัตราร้อยละ 4.0 จากไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 15.5 จากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เนื่องจากผลประกอบการทรูมูฟซึ่งปรับตัวดีขึ้น
ใน 9 เดือนแรกของปี 50 ทรูได้ชำระคืนหนี้สินเป็นจำนวนทั้งสิ้น 4.7 พันล้านบาท งบดุลของทรูปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อ EBITDA ลดลงเป็น 3.7 เท่า ในระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมา และจาก 4.6 เท่าในปี 49
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/เสาวลักษณ์/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--