กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ร่วมลงนามความร่วมมือกับ นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ในพิธีลงนามสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานในพิธี
สำหรับโครงการนี้กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะนำเทคโนโลยีระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางแบบ ไม่มีไม้กั้น หรือ Free Flow มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบมอเตอร์เวย์ เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของประชาชนในยุคดิจิทัล ช่วยลดการสัมผัสระหว่างบุคคลตามแนวทางการปฏิบัติของยุค New Normal พร้อมทั้งนำระบบบริหารจัดการจราจรอัจฉริยะ เช่น ระบบตรวจจับและแจ้งเตือนอุบัติเหตุอัตโนมัติ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้อย่างกว้างขวางและเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ มาช่วยเพิ่มความปลอดภัยสูงสุดให้กับผู้ใช้ทาง
และพร้อมเริ่มงานทันทีที่ตรวจรับพื้นที่จากกรมทางหลวงเสร็จสิ้น เพื่อให้เปิดใช้เส้นทางทั้ง 2 แห่งได้โดยเร็วที่สุดตามนโยบายของรัฐบาล เพราะเป็นเส้นทางโลจิสติกส์สายสำคัญของไทยที่เชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่โซนภาคตะวันตกและภาคใต้ เพื่อเชื่อมฐานการผลิตและการส่งออก รองรับแผนการก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์ของกระทรวงคมนาคมในอนาคต
อนึ่ง กิจการร่วมค้า BGSR ประกอบด้วย บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ. ราช กรุ๊ป (RATCH)
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า ที่ผ่านมา กรมฯ ได้เจรจากับกลุ่ม BGSR เพื่อเตรียมพร้อมในการส่งมอบพื้นที่โดยจะออกหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) ประมาณเดือน ธ.ค.64 โดย สายบางปะอิน-นครราชสีมา พร้อมส่งมอบพื้นที่ชุดแรก ส่วนที่เป็นบริเวณด่านจำนวน 9 ด่าน และ ส่วนที่เป็นเส้นทาง 21 ตอน ที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว จากทั้งหมด 40 ตอน ส่วน สายบางใหญ่-กาญจนบุรี พร้อมส่งมอบพื้นที่ชุดแรก จำนวน 8 ด่าน และ 4 ตอนที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว จากทั้งหมด 25 ตอน
พร้อมกันนี้ได้เร่งรัดเอกชนผู้รับงานระบบ O&M ในการดำเนินงานจาก 36 เดือน หรือ 3 ปี ตามสัญญา ให้แล้วเสร็จภายใน 20-24 เดือน เนื่องจากต้องการทยอยเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการได้เร็วที่สุดและเปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี 67
นายสราวุธ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญระหว่างกรมทางหลวงและกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR โดยรายละเอียดของสัญญาแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะเป็นผู้ออกแบบและลงทุนก่อสร้างติดตั้งงานระบบและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย การก่อสร้างด่านและติดตั้งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น M - Flow ระบบควบคุมและบริหารจัดการจราจรอัจฉริยะ ระบบโครงข่ายสื่อสารใยแก้วนำแสงและระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าบนสายทาง อาคารศูนย์ควบคุมและอาคารสำนักงานต่างๆ
และระยะที่ 2 เมื่อเปิดเส้นทางให้บริการ กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะทำหน้าที่จัดเก็บค่าผ่านทางและนำส่งรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมดให้แก่กรมทางหลวง บริหารจัดการและควบคุมการจราจร ซึ่งรวมถึงงานกู้ภัยและช่วยเหลือผู้ใช้ทางตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนการซ่อมบำรุงรักษาถนนและงานระบบทั้งหมดของโครงการ เป็นระยะเวลา 30 ปีหลังเปิดให้บริการ
กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะได้รับค่าตอบแทนสำหรับค่าก่อสร้างงานระบบและค่าตอบแทนสำหรับการดำเนินงาน และบำรุงรักษา โดยจะต้องรักษาระดับการให้บริการให้เป็นไปตามเงื่อนไข KPI ตามที่กรมทางหลวงกำหนดไว้
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง ได้เร่งผลักดันการก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 2 เส้นทาง ทั้งในส่วนการก่อสร้างงานโยธาและการติดตั้งงานระบบภายใต้สัญญา PPP ให้แล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2566 ซึ่งโครงการดังกล่าวจะช่วยเติมเต็มโครงข่ายคมนาคมขนส่ง สร้างความสะดวก รวดเร็ว ทันสมัย ปลอดภัยให้กับประชาชนในการเดินทางสู่ภูมิภาคต่างๆ และเสริมประสิทธิภาพการขนส่งและระบบโลจิสติกส์อีกด้วย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า กรมทางหลวงได้ประสานกับเอกชนในการเร่งรัดงาน เนื่องจากโดยกระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้เปิดใช้งานเร็วที่สุด ซึ่งโครงการกำหนดแล้วเสร็จในปลายปี 66 โดยในช่วง 3 เดือนแรกจะให้ใช้บริการฟรี เนื่องจากเป็นการทดสอบระบบ จากนั้นะเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมต้นปี 67 ทั้งนี้ ระบบด่านอัตโนมัติ จะมีการติดตั้งกล้อง CCTTV ที่ประสิทธิภาพสูงสามารถ จับภาพได้ในระยะ 2 กม. เชื่อมกับระบบ AI จึงช่วยในการบริหารจัดการจราจร จัดการด้านความปลอดภัยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และประหยัดงบด้านบุคลากร อีกด้วย
ปัจจุบันงานโยธาสายบางปะอิน-นครราชสีมา คืบหน้าประมาณ 94% ส่วนตอนที่ปัญหาปรับแบบจำนวน 17 สัญญา อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข โดยบางสัญญาสามารถบริหารจัดการ โดยใช้งบประมาณเหลือจ่ายของโครงการดำเนินการ โดยตกลงกับสำนักงบประมาณก่อน ส่วนตอนที่เกิดจากผลกระทบจากหน่วยงานอื่น และอยู่นอกเหนือผลศึกษา เช่น ช่วงผ่านเรือนจำคลองไผ่ ลำตะคอง ซึ่งทางเรือนจำขอให้ทำกำแพงครอบช่วงผ่านเรือนจำ จะต้องเสนอครม.ขอเพิ่มงบประมาณและประกวดราคาใหม่ ซึ่งคาดจะสามารถได้ข้อยุติในปีนี้ทั้ง 17 ตอน
"จากการวางแผนงาน ที่ทล.ร่วมกับเอกชนมั่นใจการก่อสร้างจะดำเนินการได้ ไม่ล่าช้าและเปิดได้ใน ปลายปี 2566 อย่างไรก็ตามสัญญานี้ได้ระบุว่า กรณี ทล. ส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ตามแผน ทล.จะชดเชยเป็นเวลาก่อสร้างให้ ดังนั้น จะไม่มีค่าโง่เกิดขึ้นแน่นอน"รมว.คมนาคมกล่าว
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ผู้แทนกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR กล่าวว่าทางกลุ่ม BGSR ประเมินว่าช่วง 3 ปีแรกมอเตอร์เวย์ทั้ง 2 สายจะมีค่าก่อสร้างงานโยธาประมาณกว่า 7,000 ล้านบาท และระบบ O&M ประมาณ 11,000 ล้านบาท ซึ่งจะกู้เงินมาดำเนินการในนามกลุ่ม BGSR ขณะที่แหล่งเงินจากส่วนผู้ถือหุ้น (Equity) แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ในช่วงก่อสร้างสำหรับสายบางปะอิน-นครราชสีมาไว้ที่ 1,000 ล้านบาท และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่ 850 ล้านบาท. และช่วงบริหารโครงการ จะเพิ่มทุนในสัดส่วนเท่ากับช่วงแรก
ทั้งนี้ ในการยื่นประมูล เสนอสายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) วงเงิน 21,329 ล้านบาท สายบางใหญ่ ? กาญจนบุรี (M81) วงเงิน 17,809 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าลงทุนและค่าจ้างในการดำเนินงานที่จะได้รับในระยะเวลา 30 ปี ยอมรับว่าเสนอต่ำกว่าราคากลางค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการนำเทคโนโลยีเข้ามาข่วยบริหารจัดการ ขณะที่นโยบายล่าสุดให้นำด่านไร้ไม่กั้น (M Flow) ทั้งขาเข้าและขาออกมาใช้บริการ คาดว่าจะทำให้ช่วยประหยัดต้นทุนลงได้อีก
"เดิมเราเสนอ ขาเข้า เป็นระบบอัตโนมัติ โดยให้ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทางที่ขาออก ซึ่งจะมีเจ้าหน้าเก็บเงิน แต่นโยบาย ให้เป็นอัตโนมัติทั้งขาเข้าและขาออก โดยใช้ระบบ AI จัดเก็บค่าผ่านทางทำให้ลดต้นทุนในการก่อสร้างด่านและเจ้าหน้าที่เก็บเงินไปได้อีก"นายสุรพงษ์ กล่าว
อนึ่ง กลุ่มกิจการค้า BGSR ได้จัดตั้ง 2 บริษัทดูแลการดำเนินการมอเตอร์เวย์ 2 สาย ได้แก่ บริษัท บีจีเอสอาร์ 6 จำกัด (BGSR 6) และบริษัท บีจีเอสอาร์ 81 จำกัด (BGSR 81) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนทั้งสองบริษัทมีสัดส่วนการร่วมทุน BTS 40%, GULF 40%, STEC 10% และ RATCH 10% ได้เข้าลงนามสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) กับกรมทางหลวง (PPP Gross Cost) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน- นครราชสีมา (M6) ระยะทาง 196 กิโลเมตร และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ระยะทาง 96 กิโลเมตร