นายทวี บุตรสุนทร ประธานกรรมการ ธนาคารไทยธนาคาร(BT)เปิดเผยว่า ทางคณะกรรมการธนาคารได้มีการตรวจสอบแล้วว่าการเข้าไปลงทุนในตราสาร Collateralized Debt Obligations(CDO)ของธนาคาร ไม่ได้เกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาดหรือปฏิบัติงานโดยทุจริตแต่อย่างใด แต่ถือว่ามีเหตุผลในการลงทุนอันสมควรในภาวะขณะนั้น
เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว ธนาคารได้รับเงินชดเชยที่ค้างชำระจากกองทุนฟื้นฟูฯ เข้ามาประมาณ 59,000 ล้านบาทในปี 2548 ซึ่งเป็นการยากลำบากมากที่จะนำไปปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพในตลาดในประเทศในระยะเวลาสั้นๆ ดังนั้น ธนาคารจึงมีนโยบายว่าน่าจะเป็นการดีที่มีการกระจายความเสี่ยงทั้งในตลาดในประเทศและต่างประเทศ จึงได้นำไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศเช่น CDO
นอกจากนั้น ในการลงทุนก็ได้พิจารณาเรื่องความเสี่ยงโดยดูการจัดอันดับความเสี่ยงของสถาบันจัดอันดับความเสี่ยงสากลเป็นหลัก และ CDO ทั้งหมดที่ธนาคารได้เข้าไปลงทุนอยู่ในระดับน่าลงทุน(Investment Grade)ทั้งสิ้น แต่ปัญหาในปัจจุบันในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตราสารต่างๆ ทั่วโลก เกิดจากการขาดสภาพคล่องของระบบเป็นหลัก
นายทวี กล่าวว่า คณะกรรมการธนาคารเองก็ได้มีการติดตามสถานการณ์และดูแลให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด โดยในส่วนของซับไพร์ม CDO ที่มีปัญหานั้น ปัจจุบันธนาคารได้เข้าไปลงทุนเพียง 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งก็ได้ตั้งสำรองเผื่อการด้อยค่าไว้ทั้งหมดตามเกณฑ์อนุรักษ์นิยมเรียบร้อยแล้ว รวมถึง CDO ตัวอื่น ๆ ทางธนาคารก็ได้ตั้งสำรองไว้เต็มที่เช่นเดียวกัน เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงไว้ก่อน ถึงแม้ว่า CDO ทุกตัวที่ถืออยู่ยังไม่มีการ Default และมีการชำระดอกเบี้ยอยู่ตามปกติก็ตาม ซึ่งรวมถึงซับไพรม์ CDO ด้วย
ส่วนการเพิ่มทุนของธนาคารนั้น นายทวี เชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารทั้ง 2 ราย คือ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ และกลุ่ม TPG ต่างยืนยันว่า จะใช้สิทธิเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนเต็มจำนวนตามสัดส่วน และยังพร้อมที่จะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มเติมในส่วนที่เหลือทั้งหมดอีกด้วย
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--