นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจบัตรเครดิตเคทีซี บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่า บริษัท ตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรปี 65 จะเติบโตได้ 8-10% ตามกำลังซื้อที่คาดหวังว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น และการท่องเที่ยวที่คาดจะดีขึ้นด้วย โดยบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าทำการตลาดในหมวดที่ลูกค้านิยมใช้จ่าย เช่น การรับประทานอาหาร การจับจ่ายใช้สอยในซุปเปอร์มาร์เก็ต การใช้จ่ายผ่านออนไลน์ อย่าง ฟู้ดดิลิเวอรี่แพลตฟอร์ม เป็นต้น, หมวดที่มีความจำเป็นเกี่ยวกับโรงพยาบาล ประกัน ซึ่งเคทีซี ก็พยายามที่จะมีพันธมิตรที่หลากหลายให้ได้มากที่สุด อีกทั้งยังคงให้ความสำคัญในเรื่องของสิทธิพิเศษต่างๆ การบริการ และความปลอดภัยในการใช้บัตร
นอกจากนี้การเติบโตของยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร ก็จะมาจากจำนวนบัตรใหม่ด้วย โดยปี 65 เคทีซีตั้งเป้าหมายบัตรใหม่ไว้ที่ 2.5 แสนบัตร จากปัจจุบันที่มีสมาชิกอยู่ที่ 2 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวนบัตรที่ 2.5 ล้านบัตร
สำหรับในปีนี้บริษัทยอมรับว่าจำนวนบัตรใหม่พลาดเป้า และยอดใช้จ่ายผ่านบัตรน่าจะติดลบ 1-2% หรือคิดเป็นจำนวน 195,000 ล้านบาท จากปีก่อนทำได้ 197,000 ล้านบาท จากเป้าหมายเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 8% เนื่องด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดหวังว่าไตรมาส 4/64 ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรจะเติบโตราว 1-2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากรัฐบาลคลายมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลให้พันธมิตรร้านค้ากลับมาค้าขายได้มากขึ้น และลูกค้าก็มีการใช้จ่ายผ่านบัตรมากขึ้น
ประกอบกับ KTC เปิดตัวแคมเปญใหญ่ "KTC มีแต้มต่อ" ชูคอนเซ็ปต์ต่อความสุข ให้สมาชิกด้วยการเพิ่มมูลค่าคะแนน KTC FOREVER มากกว่าปกติ เน้นความคุ้มค่าด้วยสิทธิพิเศษ 2 รูปแบบ ใช้ 999 คะแนน หรือใช้คะแนนเท่ายอดใช้จ่าย แลกรับส่วนลดหรือสิทธิประโยชน์อื่นๆ ด้วยช่องทางการแลกคะแนนหลากหลาย ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ กับมากกว่า 170 พันธมิตรทั่วประเทศในหมวดใช้จ่ายสำหรับชีวิตประจำวัน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-31 ธ.ค.64 คาดว่าสมาชิกให้การตอบรับด้วยดี ด้วยการนำคะแนนมาแลกรับสินค้าหรือบริการตลอดแคมเปญทั้งสิ้น 2,000 ล้านคะแนน
"เคทีซีได้ออกแคมเปญใหญ่ "KTC มีแต้มต่อ" โดยวางงบประมาณการตลาดไว้ที่ 300 ล้านบาท ร่วมกับมากกว่า 170 พันธมิตรร้านค้าในหมวดใช้จ่ายสำหรับชีวิตประจำวัน โดยเน้นที่หมวดร้านอาหารและช้อปปิ้ง ซึ่งเป็นหมวดที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงปลายปี การออกแคมเปญด้วยการเพิ่มมูลค่าของคะแนน KTC FOREVER ในครั้งนี้ จึงถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เคทีซีต้องการขอบคุณและสนับสนุนพันธมิตรที่ได้ต่อสู้เคียงคู่กันในยามวิกฤตที่ผ่านมา" นางพิทยา กล่าว
สำหรับแคมเปญ "KTC มีแต้มต่อ" คะแนน KTC FOREVER จะมีค่ามากกว่าปกติด้วยสิทธิพิเศษ 2 รูปแบบหลัก
1. ใช้ 999 คะแนน KTC FOREVER แลกรับส่วนลดมูลค่า 200 บาท ,แลกรับส่วนลดสูงสุด 30% ,แลกรับสินค้ามูลค่าสูงสุด 200 บาท หรือ แลกซื้อ e-Voucher Deals ในราคาลดสูงสุด 50%
2.ใช้คะแนน KTC FOREVER เท่ายอดใช้จ่าย แลกรับส่วนลดสูงสุด 25% หรือแลกรับเครดิตเงินคืนสูงสุด 15% โดยสมาชิกสามารถแลกคะแนนได้อย่างสะดวกสบาย ณ จุดขาย ที่หน้าร้านพันธมิตรกว่า 170 ร้านค้า หรือผ่านแอป KTC Mobile ,เว็บไซต์ KTC ,เว็บไซต์ KTC USHOP , KTC World Travel Service หรือ QR Point ของร้านค้าที่ร่วมรายการ สมาชิกสามารถใช้คะแนนต่อสุขได้ทุกที่ ไม่ว่าจะกิน ช้อป หรือเที่ยว
นางประณยา นิถานานนท์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจบัตรเครดิตเคทีซี กล่าวว่า จากการปรับมาตรการผ่อนปรนให้ร้านอาหารสามารถเปิดกิจการได้มากขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายในหมวดร้านอาหารกลับมาคึกคักอีกครั้งตลอดเดือนก.ย.ที่ผ่านมา พฤติกรรมของสมาชิกก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนจากการใช้บริการ Food Delivery ในช่วงที่ผ่านมา เป็นการรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น โดยร้านอาหารประเภทบุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง ชาบู ได้รับความนิยมมากที่สุด รวมถึงร้านอาหารในศูนย์การค้าก็เช่นเดียวกัน
สำหรับแคมเปญ "KTC มีแต้มต่อ" ในไตรมาส 4 นี้ คะแนน KTC FOREVER ถือเป็นกุญแจหลักในการมอบสิทธิพิเศษให้กับสมาชิก ดังนั้น หมวดร้านอาหารจึงเป็นหมวดที่เคทีซีให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นหมวดที่สมาชิกนิยมนำคะแนนมาแลกรับสินค้าหรือบริการ โดยตลอดปี 63 มียอดรวมคะแนนที่สมาชิกนำมาแลกทั้งสิ้นกว่า 1,100 ล้านคะแนน
นอกจากนี้ พันธมิตรในหมวดร้านอาหารยังได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา เคทีซีจึงได้เชิญชวนพันธมิตรร้านอาหารมากถึง 80 ร้านค้า ครอบคลุมกว่า 3,000 แห่ง เข้าร่วมแคมเปญเพื่อช่วยสนับสนุนธุรกิจของพาร์ทเนอร์ โดยร้านอาหารที่เข้าร่วมแคมเปญประกอบด้วย ร้านบุฟเฟ่ต์ อาทิ ซูกิชิ (Sukishi), โออิชิ (Oishi), ชาบูชิ (Shabushi), อะคิโยชิ (Akiyoshi), เรดซัน (Red Sun) ร้าน Stand-alone อาทิ วอเตอร์ ไลบรารี่ (Water Library), หงเปา (Hong Bao), จัมโบ ซีฟู้ด (Jumbo Seafood), แคมส์ โรสต์ (Kam?s Roast) ร้านกลุ่มที่ใช้คะแนนน้อย อาทิ คริสปีครีม (Krispy Kreme), กาเร็ต ป๊อปคอร์น (Garrett Popcorn), แมคโดนัลด์ (McDonald?s) โดยคาดว่าในหมวดร้านอาหารตลอดแคมเปญดังกล่าวจะมีจำนวนคะแนนที่สมาชิกนำมาแลกมากถึงกว่า 500 ล้านคะแนน
นายณัฐสิทธิ์ สุนทราณู ผู้อำนวยการ-ธุรกิจบัตรเครดิตเคทีซี กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้สมาชิกคุ้นชินกับการช้อปปิ้งออนไลน์ผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ รวมถึงช่องทางโซเชียลมีเดียของพันธมิตรเพิ่มมากขึ้นแทนที่การใช้จ่ายที่หน้าร้าน จึงทำให้สัดส่วนการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจาก 30% เป็น 40 % โดยเฉพาะการใช้จ่ายผ่าน e-Marketplace ต่างๆ มีการเติบโตมากขึ้นถึง 45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 63 (ม.ค.-ส.ค.)
สำหรับเดือนกันยายนห้างสรรพสินค้า และร้านค้าต่างๆ ในศูนย์การค้าฯ ได้กลับมาเปิดกิจการเป็นปกติ รวมถึงไตรมาส 4 เป็นช่วงเทศกาลของการจับจ่ายใช้สอย จึงคาดว่ายอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรฯ ในทุกๆ ช่องทางของพันธมิตรจะกลับมาคึกคักขึ้น สำหรับแคมเปญ "KTC มีแต้มต่อ" เคทีซีได้รวบรวมพันธมิตรในหมวดช้อปปิ้งมากกว่า 60 ร้านค้า 670 แห่งทั่วประเทศ เพื่อมอบสิทธิพิเศษให้กับสมาชิก
โดยในปี 63 หมวดช้อปปิ้ง (ช่องทางออนไลน์และออฟไลน์) มีจำนวนสมาชิกนำคะแนนสะสม KTC FOREVER มาแลกสินค้าหรือบริการมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในพอร์ต โดยยอดรวมคะแนนที่มีการนำมาแลกทั้งสิ้นกว่า 1,800 ล้านคะแนน และคาดว่าในหมวดช้อปปิ้งตลอดแคมเปญดังกล่าวจะมีจำนวนคะแนนที่สมาชิกนำมาแลกมากกว่า 700 ล้านคะแนน
ปัจจุบัน KTC มีฐานสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีกว่า 2.5 ล้านบัตร มีจำนวนคะแนน KTC FOREVER ทั้งสิ้นกว่า 12,000 ล้านคะแนน โดยในช่วงปกติ แต่ละเดือนจะมีจำนวนคะแนน KTC FOREVER ที่สมาชิกนำมาแลกประมาณ 400 ล้านคะแนน สำหรับไตรมาส 4 จะเป็นช่วงที่มีการแลกคะแนนสูงกว่าไตรมาสอื่นๆและคาดว่าในไตรมาส 4 ของปีนี้ สมาชิกจะให้การตอบรับแคมเปญ "KTC มีแต้มต่อ" อย่างดี ส่งผลให้จำนวนการแลกคะแนนมากขึ้น 20% หรือ 2,000 ล้านคะแนน