(เพิ่มเติม) ภาวะตลาดหุ้นเกาหลีใต้: วิตกราคาน้ำมันพุ่งฉุดคอมโพสิตปิดลบ 11.05 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 7, 2007 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ดัชนีคอมโพสิตตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปิดปรับตัวลดลงในวันนี้ (7 พ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนบางกลุ่มหวั่นวิตกว่าราคาน้ำมันจะทำสถิติพุ่งแตะระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในสัปดาห์นี้ จึงได้เทขายทำกำไรหลังจากที่ดัชนีเคลื่อนไหวพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในการซื้อขายช่วงเช้าที่ผ่านมา 
ส่วนการซื้อขายในช่วงเช้านั้น ดัชนีพุ่งขึ้น 1.5% จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันที่หลั่งไหลเข้าหนุนหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงหุ้นซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ แต่ต่อมาตลาดได้รับปัจจัยลบจากความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันที่พุ่งทะลุ 98 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในตลาดสิงคโปร์เป็นครั้งแรกหลังจากที่ค่าเงินดอลลาร์ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และจากกระแสความกังวลต่อปริมาณน้ำมันสำรองสหรัฐว่าจะทรุดตัวลงอีก
สำนักข่าวธอมสัน ไฟแนนเชียลรายงานว่า ดัชนีคอมโพสิตปิดร่วงลง 11.05 จุด หรือ 0.5% แตะระดับ 2,043.19 จุด หลังจากที่ดัชนีพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 2,085.03 จุด
คิม จุง-ฮุน นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์กู๊ดมอร์นิ่ง ชินฮาน กล่าวว่า "ตลาดกำลังเคลื่อนไหวเข้าทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่นักลงทุนมองว่าราคาน้ำมันอาจพุ่งขึ้นแตะระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลซึ่งได้จุดกระแสความกังวลต่อสถานการณ์ในตลาดหุ้น"
นายคิมกล่าวว่า ตลาดอาจปรับฐานลงอีกหากนักลงทุนเทขายหุ้นหลังจากที่สัญญาการซื้อขายล่วงหน้าและสัญญาซื้อขายแบบอ็อพชั่นครบกำหนดส่งมอบในวันพรุ่งนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าหุ้นถึง 5 ล้านล้านวอน
นอกจากนี้ นักลงทุนยังไม่แน่ใจต่อข้อสรุปเรื่องอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางเกาหลีใต้ ซึ่งจะประชุมกันในวันพรุ่งนี้ว่าจะประเมินแรงกดดันด้านภาวะเงินเฟ้อที่เป็นผลจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นหรือไม่
โดยวันนี้ตลาดมีปริมาณการซื้อขายอยู่ที่ 335 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 8.5 ล้านล้านวอน
หุ้นซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ปิดพุ่งขึ้น 4% จากราคาเมมโมรี่ชิพและทีวีจอแบนที่มีเสถียรภาพได้เพิ่มความหวังว่าสถานการณ์เลวร้ายในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้สิ้นสุดลงแล้ว
ขณะที่หุ้นแอลจี อิเล็กทรอนิกส์ปิดทะยานขึ้น 6.1%
อย่างไรก็ตาม หุ้นดูซาน เฮฟวี่ อินดัสทรีปิดดิ่งลง 3.7% เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรอย่างหนักหลังจากที่บริษัทรายงานผลประกอบการสูงขึ้น 2 เท่าแตะที่ 5.97 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสที่สาม ซึ่งได้รับปัจจัยหนุนจากยอดสั่งซื้อต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ