คณะกรรมการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินจะมีการประชุมในวันที่ 27 พ.ย.เพื่อพิจารณาความเหมาะสมกรณีธนาคารไทยธนาคาร(BT)ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศประเภท CDO Coriolanus Series 39 รวมถึงรับทราบผลการตรวจสอบความเสี่ยงจากคณะกรรมการที่ธนาคารจัดตั้งขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ
นางทองอุไร ลิ้มปิติ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารกองทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้จัดการกองทุนเพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า ความเห็นส่วนตัวมองว่าการลงทุนใน CDO ไม่ได้มีอะไรเสียหาย ธนาคารสามารถลงทุนได้ เพียงแต่ช่วงนี้นักลงทุนมีความตื่นตระหนก จึงทำให้การลงทุนแสดงผลขาดทุนในการลงทุนตราสาร CDO ซับไพร์ม ซึ่งเชื่อว่าอีกไม่นานสถานการณ์จะคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น ขณะเดียวกัน BT ได้มีการตั้งสำรองเผื่อการด้อยค่าทั้งหมดแล้ว
“เราเข้าใจแบงก์ไทย เพราะไม่รู้จะนำเงินที่ได้จากบริหารหนี้ให้กองทุนฟื้นฟูจำนวน 50,000 ล้านบาทไปทำอะไรให้ได้ดอกผลดี เพราะไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้" นางทองอุไร ระบุ
นอกจากนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ใน BT จะใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่จะออกขายให้แก่นักลงทุนรายย่อย จำนวน4,449,800,388 หุ้น เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ รวมถึงจะรับซื้อหุ้นในสัดส่วน 50% ของหุ้นเพิ่มทุนที่เหลือทั้งหมด แม้ว่ากองทุนฟื้นฟูฯกำลังพิจารณาขายหุ้นที่ถืออยู่ในธนาคารพาณิชย์ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารไทยธนาคารออกทั้งหมดเพื่อเตรียมตัวปิดกองทุนฟื้นฟูฯก็ตาม
แหล่งข่าว ระบุว่า ในการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯครั้งนี้จะมีการพิจารณาถึงความเหมาะสมในต่ำแหน่งของนายพีรศิลป์ ศุภผลศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ BT ด้วย โดยเฉพาะประเด็นความผิดพลาดในการบริหารงาน กรณีการลงทุนในตราสาร CDO ที่เกี่ยวข้องกับตลาดซับไพร์ม จนทำให้ธนาคารต้องเพิ่มทุนเพื่อนำเงินมากันสำรองและเพิ่มระดับ BIS ซึ่งขณะนี้อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ธปท.กำหนดที่ 8.5% และ อาจถูกธปท.เข้าแทรกแซงกิจการ
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/ศศิธร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--