นายเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) เปิดเผยว่า บริษัทกำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (หุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ) ชุดใหม่ โดยระยะ 5 ปีแรก กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 4.60% ต่อปี จากนั้นจะปรับอัตราดอกเบี้ยทุกๆ 5 ปี อ้างอิงจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ณ ขณะนั้น โดยให้จองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และทวีคูณทุกๆ 100,000 บาท
บริษัทแบ่งการเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวออกเป็น 2 ช่วง
ช่วงที่ 1 จะเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ซีพี ออลล์ ครั้งที่ 1/2559 (CPALL16PA) ระหว่างวันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2564 ให้ผู้ลงทุนทั่วไปที่เป็นผู้ถือหุ้นกู้ CPALL16PA เดิม สามารถใช้เงินที่ได้จากการไถ่ถอนตามที่บริษัทมีแผนจะไถ่ถอนหุ้นกู้ CPALL16PA ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มาซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ต่อได้ เพื่อให้การลงทุนในหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยจะเสนอขายผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)
ช่วงที่ 2 จะเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไประหว่างวันที่ 22-26 และ 29 พฤศจิกายน 2564 ผ่านธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) และ บล.เกียรตินาคินภัทร
โดยการออกและเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อชำระคืนหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ครั้งที่ 1/2559 ที่บริษัทฯ มีแผนจะใช้สิทธิไถ่ถอนในวันที่ 30 พฤศจิกายน
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ "A+" แนวโน้ม ?คงที่" และอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่อยู่ที่ระดับ "A-" จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 สะท้อนถึงการเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยที่มีความมั่นคงภายใต้อุตสาหกรรมที่ยังมีศักยภาพในการเติบโตสูง
นายเกรียงชัย กล่าวว่า การเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ของ CPALL ครั้งที่ผ่านๆ มา ได้รับการตอบรับจากผู้ลงทุนเป็นอย่างดี และเชื่อว่าครั้งนี้ก็จะได้รับผลตอบรับที่ดีเช่นกันจากผู้ลงทุนที่กำลังมองหาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่น่าพอใจ และระดับความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้
ที่ผ่านมา บริษัทมีประวัติการชำระดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอ และได้พิสูจน์ให้เห็นถึงผลการดำเนินงาน ความแข็งแกร่งของกิจการ รวมทั้งโครงสร้างทางการเงินที่มั่นคง แม้จะต้องเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่บริษัทฯ ก็ยังรักษาความสามารถในการดำเนินงานไว้ได้อย่างแข็งแกร่ง รวมถึงยังมีแผนในการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้งมีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง โดยมุ่งสู่การให้บริการผ่านออนไลน์ด้วยกลยุทธ์แบบ O2O ที่ผสมผสานช่องทาง Omni-Channel ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งการให้บริการผ่านออลล์ ออนไลน์ (ALL Online) ที่เน้นแนวคิด สะดวก ครบ จบที่เดียว รวมถึงบริการเดลิเวอรี่ของ "เซเว่น อีเลฟเว่น" (7-Eleven Delivery) ที่จัดส่งสินค้าถึงบ้าน ผ่านทางแอปพลิเคชัน เพื่อตอบรับกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังมุ่งขยายสาขา "เซเว่น อีเลฟเว่น" ได้ตามเป้าหมาย โดยล่าสุด ได้เปิดร้าน 7-Eleven สาขาแรก ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา และมีแผนจะเปิดสาขาเพิ่มทั้งในกัมพูชาและลาว อีกด้วย