นางสุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมเดินหน้ารับโอนกิจการทั้งหมดของกลุ่มโลตัสส์ในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย จากบริษัท ซี.พี.รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด หรือ CPRH หลังได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่1/2564 ของบริษัท และบมจ. ซีพี ออลล์ (CPALL) เมื่อวันที่ 12 ต.ค.2564 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทฯ และจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement หรือ PP) เพื่อเป็นค่าตอบแทนการรับโอนกิจการดังกล่าว คาดว่ากระบวนการรับโอนกิจการทั้งหมดของกลุ่มโลตัสส์จะแล้วเสร็จภายใน 1-3 สัปดาห์ นับจากวันที่ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 บริษัท
หลังจากนี้ MAKRO เตรียมยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อขออนุมัติเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering หรือ PO) โดยบมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัท ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง จำกัด (บริษัทย่อยของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF) จะร่วมเสนอขายหุ้นสามัญของ MAKRO ที่ตนถืออยู่บางส่วน เพื่อเพิ่มสัดส่วนการกระจายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) เป็นไม่น้อยกว่า 15% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ส่งผลดีต่อหุ้น MAKRO ที่จะมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ที่เพิ่มขึ้น สภาพคล่องการซื้อขายที่ดีขึ้น รวมถึงมีโอกาสในการเข้าคำนวณในดัชนีสำคัญต่าง ๆ เช่น SET 50 และ MSCI เป็นต้น ส่งผลให้หุ้น MAKRO เป็นที่สนใจของนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในด้านฐานะการเงินเพื่อเป็นเงินทุนรองรับการขยายธุรกิจ ลดต้นทุนทางการเงิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการของ MAKRO
"ภายหลังจากที่ MAKRO รับโอนกิจการทั้งหมดของกลุ่มโลตัสส์ จะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งขึ้นจากการรับรู้รายได้กิจการของกลุ่มโลตัสส์เข้ามาในงบการเงินของบริษัทฯ และหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายจะส่งผลดีต่อการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เศรษฐกิจและกำลังซื้อฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลให้ MAKRO และกลุ่มโลตัสส์มียอดขายเพิ่มขึ้นและรายได้จากพื้นที่เช่าภายในศูนย์การค้าของโลตัสส์ที่จะเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย" นางสุชาดา กล่าว
นางสุชาดา กล่าวต่อว่า บริษัทฯ มีแผนผนึกกำลังร่วมมือกับเอสเอ็มอี (SMEs) และผู้ผลิตสินค้ารายย่อยของไทยอย่างต่อเนื่อง โดย ให้การสนับสนุนผ่านการเป็นช่องทางการกระจายสินค้าของผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดต่างประเทศผ่าน "แพลตฟอร์มแห่งโอกาส" สร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์และยกระดับสินค้าไทยให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล นำประเทศไทยก้าวเป็นฮับหรือศูนย์กลางของอาหารสดและสินค้าอุปโภคบริโภค (Fresh Food and Grocery) ในภูมิภาค และเป็นครัวของโลก (Kitchen of the World) โดยเชื่อว่า สินค้าไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะขยายสู่ตลาดต่างประเทศได้ หากได้รับการสนับสนุนด้านช่องทางการกระจายสินค้า การทำการตลาด และข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการ เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล โดยมีโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดความต้องการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น MAKRO และโลตัสส์ จะร่วมมือกันพัฒนาโมเดลธุรกิจด้วยการผสมผสานช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ (offline and online หรือ O2O) เพื่อตอบสนองความต้องการและสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้บริโภค และนำบริษัทฯ ก้าวสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) ที่ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัล ตลอดจนยกระดับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ให้แข็งแกร่ง และสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการในระดับสากลได้
"เราพร้อมเป็นช่องทางการกระจายสินค้าและนำแพลตฟอร์มออนไลน์และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่พัฒนาขึ้นมาสร้างโอกาสแก่เอสเอ็มอีและผู้ผลิตสินค้ารายย่อยของไทย โดยร่วมมือกันนำสินค้าไทยออกสู่ตลาดต่างประเทศ เพื่อรับโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น" นางสุชาดา กล่าว