RATCH ถือหุ้น 40% ในโรงไฟฟ้าหงสาฯ-BANPU 40% พร้อมเปิดทางจีนร่วมทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 20, 2007 10:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นางดรุณี อภินรเศรษฐ์  รองกรรมการผู้จัดการบัญชีและการเงิน บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH) เผยว่ามติคณะกรรมการบริษัทฯอนุมัติการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าหงสา โดยการเข้าลงนามใน Joint Development Agreement (JDA) กับบริษัท บ้านปูเพาเวอร์ จำกัด(ซึ่งเป็นย่อยของบมจ.บ้านปู(BANPU)) 
สำหรับ บริษัทโรงไฟฟ้า มีผู้ร่วมทุนได้แก่ รัฐบาลลาว 20% ,บ้านปูเพาเวอร์ 40% และ RATCH 40% ส่วนบริษัทเหมือง โครงสร้างผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย รัฐบาลลาว 25% ,บ้านปูเพาเวอร์ 37.5% และ RATCH 37.5%
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีนักลงทุนจากประเทศจีนถือหุ้น สัดส่วนการถือหุ้นของ RATCH ในบริษัทโรงไฟฟ้าและบริษัทเหมืองจะลดลงเหลือ 30% และ 28.125% ตามลำดับ
ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าหงสาเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนซึ่งใช้ถ่านหินประเภทลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง ตั้งอยู่เมืองหงสา ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ห่างจากชายแดนห้วยโกร๋น จังหวัดน่าน 35 ก.ม. มีกำลังการผลิต 1,653 เมกะวัตต์ลักษณะของสัมปทานเป็นแบบ Built-Operate-Transfer (BOT)กับรัฐบาลลาว อายุสัมปทาน 25 ปี (ไม่รวมระยะเวลาก่อสร้างจำนวน 4.25 ปี) ส่วนราคาซื้อขายไฟฟ้าอยู่ระหว่างการเจรจากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มูลค่าโครงการประมาณ 2,612 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.58 ล้านเหรียญสหรัฐต่อ 1 เมกะวัตต์
รัฐบาล สปป.ลาว เลือก BANPU ให้เป็นผู้พัฒนาโครงการ โดยลงนามเมื่อ ธันวาคม 2549 ในข้อตกลง Head of Agreement (HOA) ทั้งนี้ เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์หน่วยที่ 1 ใน มี.ค. 56, เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์หน่วยที่ 2 ในส.ค.56 และ เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์หน่วยที่ 3 ใน ธ.ค.56
ทั้งนี้ บ้านปูเพาเวอร์ และ บริษัทฯ ตกลงจะร่วมกันพัฒนาโครงการให้สำเร็จตาม HOA ทั้งนี้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากรัฐบาลลาวให้บริษัทฯ เข้าร่วมด้วยได้ ทั้งนี้ บริษัทฯ จะจ่ายค่า Joint Development Right ให้แก่ กลุ่มผู้พัฒนาโครงการ ซึ่งคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติการเข้าทำรายการที่เกี่ยวโยงกันในการจ่ายค่า Joint Development Right ให้แก่ บ้านปูเพาเวอร์ ตาม JDA เป็นจำนวน 10-16 ล้านเหรียญสหรัฐ
การลงทุนในโครงการดังกล่าว ทำให้บริษัทฯ จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 661 เมกะวัตต์ จากสัดส่วนการถือหุ้นในเบื้องต้น 40% ทำให้กำลังการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 4,499 เมกะวัตต์ เป็น 5,160 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ เป็นการบริหารเงินสดที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเนื่องจากเป็นการนำ Excess Cash ที่บริษัทฯ มีอยู่มาลงทุนในโครงการที่ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น รวมทั้ง เพิ่มความหลากหลายของ Portfolio การลงทุนของบริษัทฯ โดยการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และ เพิ่มประสบการณ์ของบริษัทฯ ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ