IPOInsight: HENG กางแผนสู้ศึกลิสซิ่ง เร่งเครื่องสู่เป้าพอร์ตเกินหมื่นล้าน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 15, 2021 15:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เป็นอีกหนึ่งหุ้นลิสซิ่งน้องใหม่ที่กำลังเป็นเป้าหมายของผู้ลงทุนกันไม่น้อย สำหรับหุ้นของ บมจ.เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล (HENG) เพราะเพิ่งมีกระแสข่าวการเข้ามาจองซื้อหุ้น IPO สัดส่วน 10% ผ่านชื่อของ "ธนาคารกสิกรไทย" เสนอซื้อหุ้นสามัญเดิมของ HENG จากผู้ถือหุ้นกลุ่มทวีเฮงและกลุ่มพัฒนสิน ผ่านการซื้อขายหลักทรัพย์บนกระดานรายใหญ่ (บิ๊กล็อต) จำนวน 381,000,000 หุ้นในราคาเดียวกับที่เสนอขาย IPO ที่ 1.95 บาทต่อหุ้น ส่งผลให้ธนาคารกสิกรไทยติดหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทันที ก่อนจะเตรียมตัวนำหลักทรัพย์ HENG เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เป็นวันแรกในวันที่ 19 ตุลาคมนี้

**เปิดพอร์ตลิสซิ่งรายใหญ่ภาคเหนือ

นางสุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร HENG เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า บริษัทประกอบธุรกิจหลักคือการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 บริษัทมีพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 8,420 ล้านบาท ประกอบด้วย สินเชื่อเช่าซื้อสัดส่วน 65% ,สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีทะเบียนรถเป็นประกันสัดส่วน 27% ,ที่เหลือจะเป็นประเภทสินเชื่อที่มีบ้านและที่ดินเป็นหลักประกันที่บริษัทเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2563 ,สินเชื่อไม่มีหลักประกันเป็นสินเชื่อประเภทนาโนไฟแนนซ์ เป็นปล่อยให้กับลูกค้ารายย่อยที่ประกอบธุรกิจขนาดเล็กไม่เกิน 20,000 บาท/ราย ,และผู้ที่มีรายได้ประจำไม่เกิน 1.5 เท่าของเงินเดือน/ราย ระยะเวลาชำระไม่เกิน 3 ปี

และธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิต แก่ลูกค้ารายย่อยทั่วไป ภายใต้เครื่องหมายบริการ "เฮงลิสซิ่ง" แม้ว่าปัจจุบันจะยังมีสัดส่วนรายได้ไม่มากนัก แต่ก็มองเห็นถึงโอกาสเติบโตที่ดีในอนาคต

"ปัจจุบันโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อรวมประกอบด้วยสินเชื่อที่มีหลักประกันมีสัดส่วน 94% และไม่มีหลักประกันสัดส่วน 6% มีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 451 แห่ง ส่วนใหญ่ครอบคลุมการให้บริการในภาคเหนือกว่า 170 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อรวมถึง 42% นับเป็นการสะท้อนถึงความสำเร็จของศักยภาพการประกอบธุรกิจสินเชื่อในภาคเหนือ แต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีการขยายสาขาการให้บริการเข้าสู่โซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคกลาง, และภาคตะวันตก"นางสุธารทิพย์ กล่าว

**เข้าตลาดหุ้นสานเป้าปี 66 พอร์ตสินเชื่อแตะ 1.48 หมื่นลบ.

สำหรับวัตถุประสงค์การใช้เงินระดมทุนภายหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯแล้วนำไปขยายกิจการตามแผนธุรกิจ 3 ปี (2564-2566) ประกอบด้วยแผนขยายขยายสาขาเพิ่มเป็น 830 แห่งภายในปี 2566 แบ่งเป็นแผนขยายภายในปีนี้ 80-90 สาขา ส่วนปี 2565 เพิ่มขึ้นอีก 150 สาขา และปี 2566 จะเพิ่มขึ้นอีก 190 สาขาจากปัจจุบันที่มีทั้งสิ้น 451 สาขา เพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็น 14,800 ล้านบาทภายในปี 2566 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 28% เมื่อเทียบกับเป้าหมายในสิ้นปีนี้คาดว่าพอร์ตสินเชื่อจะเติบโตมาอยู่ที่ 8.8 พันล้านบาท

ส่วนแผนการบริหารความเสี่ยงของระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) แม้ว่าปัจจุบันจะอยู่ที่ 3.70% แต่บริษัทวางเป้าที่ต้องการจะลดระดับ NPL ลงมาอยู่ที่ 2.90% ภายในปี 2566 สอดคล้องกับเป้าหมายการขยายพอร์ตสินเชื่อรวมที่มีคุณภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันเชื่อว่าสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จะเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลบวกต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นด้านรายได้ของประชาชนคนไทย

"เรามองเห็นถึงโอกาสการเติบโตจากแผนการรุกเข้าไปขยายสาขาในโซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น เพราะเป็นพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ มีหัวเมืองหลักเป็นจำนวนมาก โดยกลยุทธ์การขยายสาขาจะเป็นลักษณะคล้ายกับใยแมงมุม กระจายเป็นวงกว้างออกไปในทุกๆ 30 กิโลเมตรก็จะมีสาขาของบริษัทเปิดให้บริการลูกค้าในพื้นที่ชุมชนบริเวณโดยรอบ ดังนั้นการเว้นระยะของสาขาจึงไม่ได้เป็นการแย่งชิงกลุ่มลูกค้าของบริษัทเอง แต่จะเป็นการชิงส่วนแบ่งจากคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน นอกจากนั้นยังช่วยควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างกรณีผู้จัดการ 1 คนเราก็สามารถบริหารจัดการได้ถึง 2-3 สาขาในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกัน พร้อมกับดึงคนในท้องถิ่นมาร่วมทำงานกับบริษัทช่วยเพิ่มความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าในพื้นที่นั้นๆด้วย"นางสุธารทิพย์ กล่าว

**พร้อมสู้ศึกลิสซิ่งหากตลาดแข่งขันดุเดือด

สำหรับกระแสความกังวลของผู้ลงทุนเกี่ยวกับทิศทางของตลาดลิสซิ่งที่มีแนวโน้มแข่งขันรุนแรงมากขึ้น ภายหลังจากที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่เพื่อผลักดันก้าวขึ้นสู่การเป็นโฮลดิ้งคอมพานี (Holding Company) มีแผนแยกธุรกิจลิสซิ่งที่เป็นกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อออกมาเป็นบริษัทใหม่เพื่อขยายธุรกิจอย่างเต็มตัวนั้น

กรณีดังกล่าวบริษัทมองว่าหากพิจาณาเรื่องของต้นทุนทางการเงินที่อาจจะมีความได้เปรียบมากกว่า มีโอกาสที่จะเพิ่มการแข่งขันได้ตลาดได้บ้าง แต่สุดท้ายคงต้องติดตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าจะเข้ามากำกับดูแลอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น บริษัทลูกที่ประกอบธุรกิจลิสซิ่งหากธนาคารพาณิชย์ถือหุ้นเกิน 25% ก็ต้องถูกกำกับดูแลโดย ธปท. แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะการแข่งขันในปัจจุบันก็ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว ซึ่งบริษัทมีความได้เปรียบเรื่องของความคล่องตัวสามารถปรับกลยุทธ์ได้ทันสอดรับไปกับการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความหลากหลาย มีความยืดหยุ่นการปล่อยสินเชื่อเป็นสิ่งที่ทำให้พอร์ตสินเชื่อบริษัทมีการเติบโตมาตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน

"อีกจุดแข็งของบริษัท คือ ประสบการณ์ความเชี่ยวชาญทีมผู้บริหารและพนักงานที่มีความเข้าใจในพฤติกรรมความต้องการเงินทุน ตอบโจทย์การนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า ประกอบกับการมีเครือข่ายสาขาผู้ประกอบการเต็นท์รถมือสองและนายหน้ากว่า 5,100 รายเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่เป็นช่องทางการนำเสนอผลิตภัณฑ์และส่งต่อลูกค้าให้แก่สาขาของบริษัทในแต่ละพื้นที่ และสร้างโอกาสการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อประเภทอื่น ๆ ให้แก่ลูกค้าได้เพิ่มเติมอีกด้วย"นางสุธารทิพย์ กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทมีรายได้จากดอกเบี้ย (ปี 2561-2563) อยู่ที่ 1,239 ล้านบาท 1,557 ล้านบาท และ 1,450 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งสินเชื่อเช่าซื้อในกลุ่มสินเชื่อที่มีหลักประกันเป็นพอร์ตรายได้หลัก ขณะที่กำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 44.6% ต่อปี อยู่ที่ 152 ล้านบาท 189 ล้านบาท และ 318 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งในปีที่ผ่านมาบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ 1.5 เท่า

https://youtu.be/BFFsOGiuLWs


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ