นางรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่าบริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 5 ฝ่าย ประกอบด้วย GPSC, บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK), องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (TGO) และบริษัท นีโอคลีน เอ็นเนอยี่ จำกัด (NEO ) เพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) และการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตภายใต้โครงการ Solar Orchestra ที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้ามาลงทุน Solar Rooftop แล้วขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ "โครงการ T-VER" และรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ที่เรียกว่า "คาร์บอนเครดิต" และสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปแลกเปลี่ยนซื้อขายได้ โดยตั้งเป้าหมายการติดตั้ง Solar Rooftop กว่า 100 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นเดือนธ.ค.65
ความร่วมมือดังกล่าว แบ่งเป็น 5 ส่วน ได้แก่ GPSC ในฐานะแกนนำด้านธุรกิจไฟฟ้าของ กลุ่ม ปตท. จะให้ความร่วมมือในการพัฒนาผู้ประกอบการไทย โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำคัญเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน CHPP บริษัทในกลุ่มซึ่ง GPSC ถือหุ้น 100% จะเป็นผู้รับเหมาหลัก (EPC Contractor) ในการพัฒนาติดตั้งโซลาร์ให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ Solar Orchestra ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
ขณะที่ EXIM BANK จะให้การบริการทางการเงินแก่ผู้ประกอบการที่สนใจติดตั้งระบบ Solar Rooftop เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าพลังงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก TGO จะสนับสนุนความร่วมมือเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กระบวนการและหลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER และการขอรับรองคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทย เพื่อจะขับเคลื่อนให้ไทยก้าวสู่นโยบายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์เป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608-2613 (ค.ศ. 2065 - 2070) ตามที่รัฐบาลได้กำหนดแผนงานเพื่อให้ก้าวทันในเวทีโลก และ NEO จะช่วยดำเนินการเป็นผู้รับเหมารอง (Sub EPC Contractor) โครงการ Solar Orchestra ดังกล่าว
"ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการมอบสิทธิประโยชน์แบบ All in one package ให้กับผู้ประกอบการไทยที่สนใจลดค่าไฟฟ้า โดยการติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองในกิจการ จากการร่วมดำเนินงานโดยบริษัทชั้นนำของประเทศ พร้อมสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) การสนับสนุนทางการเงินด้วยเงื่อนไขพิเศษ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ด้านคาร์บอนเครดิต" นางรสยากล่าว
นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ กรรมการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) กล่าวว่า ภายใต้แนวคิด Sustainable Energy Management for All การพัฒนาโครงการ Solar Orchestra เป็นการขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียน เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคการผลิตของไทย ที่มีแนวโน้มต้องการพลังงานสะอาดในกระบวนการผลิตสินค้ามากขึ้นตามทิศทางของกระแสโลกที่มุ่งใช้นโยบายพลังงานสะอาดเพื่อลดภาวะโลกร้อน และยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เช่น การนำไปรายงานเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint Organization) ในรายงานประจำปีที่จะนำไปสู่การพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน
ดังนั้น การคัดสรรเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสำหรับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจึงมีความสำคัญในการพัฒนาโครงการ ซึ่ง CHPP มีประสบการณ์ที่จะสามารถออกแบบการติดตั้งระบบ Solar Rooftop, Solar Floating และ ระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management) ให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจพลังงานสะอาดให้เหมาะสมต่อการใช้ไฟฟ้าของผู้ประกอบการแต่ละราย