บมจ.ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ (TFM) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ราคา 13.50 บาท/หุ้น เปิดให้จองซื้อในวันที่ 19.21 ต.ค. คาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ในวันที่ 29 ต.ค.นี้ โดยมี บล.บัวหลวง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
TFM จะเสนอขาย IPO จำนวน 109.3 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน 90.0 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย TU จำนวน 19.3 ล้านหุ้น รวมทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 21.9% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้ โดยจะนำเงินระดมทุนไปใช้ในการขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินโดนีเซียและปากีสถาน ชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในอนาคต
นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย บมจ. ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ (TFM) กล่าวว่า การกำหนดราคา IPO ครั้งนี้ด้วยการทำ Bookbuilding ที่ราคานี้คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) เท่ากับ 21.7 เท่า หากพิจารณาผลกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง ซึ่งถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง จากศักยภาพการเติบโตและแผนการลงทุนในธุรกิจอาหารสัตว์น้ำในต่างประเทศ เพื่อสร้างรากฐานการผลิตและ จัดจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้ TFM ในการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต นายบรรลือศักร โสรัจจกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TFM ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำและสัตว์เศรษฐกิจแบบครบวงจร เปิดเผยว่า การเข้าระดมทุนครั้งนี้จะช่วยความสามารถในการแข่งขันเพื่อรองรับโอกาสทางธุรกิจที่มากยิ่งขึ้น โดยบริษัทตั้งเป้าในระยะ 3 ปี (65-67) รายได้ในประเทศจะมีการเติบโต 5-10% ต่อปี โดยจะเริ่มเห็นสัญญาณที่กลับมาเติบโตหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น หนุนการท่องเที่ยว และการบริโภคในประเทศกลับมาฟื้นตัว ในขณะที่ตลาดต่างประเทศในระยะเวลา 3 ปี (65-67) บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 10-20% ต่อปี และคาดว่าสัดส่วนรายได้ในปี 65 จะเพิ่มขึ้นเป็น 10% จากปีนี้ที่ราว 3% โดยมีปัจจัยหนุนหลักจากการรับรู้รายได้บริษัทย่อยในประเทศอินโดนีเซียเข้ามาเต็มปี พร้อมกันนี้บริษัทยังมีการรับรู้รายได้ต่อเนื่องจากการขยายตลาดไปยังประเทศที่อุตสาหกรรมสัตว์น้ำมีศักยภาพในการเติบโตสูง ผ่าน Model ธุรกิจที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศ เช่น 1. การส่งออก เช่น ศรีลังกา มาเลเซีย บังคลาเทศ และพม่า เป็นต้น 2. การเข้าทำสัญญาความร่วมมือกับ AVANTI ซึ่งเป็นผู้นำการผลิตอาหารสัตว์น้ำในประเทศอินเดีย โดยการใช้ชื่อทางการค้าและสูตรการผลิตของ TFM ในการขายสินค้าในประเทศอินเดีย และ 3.การเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตรในประเทศปากีสถาน จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของรายได้และกำไรของบริษัทในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้บริษัทมีกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินธุรกิจที่สำคัญ 3 แนวทาง ได้แก่ 1. รักษาและพัฒนาความเป็นผู้นำในการผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำในประเทศ ผ่านความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจ พร้อมช่วยสนับสนุนการเติบโตของลูกค้าฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น การให้วงเงินการซื้อสินค้าและระยะเวลาการให้สินเชื่อ (Credit Term) ที่เหมาะสม, ศึกษาข้อมูล ช่วยแก้ไขปัญหา ให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างเหมาะสม, พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและพัฒนาสายพันธุ์ลูกกุ้งที่มีคุณภาพ, นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และแสดงให้เห็นถึงคุณภาพและความคุ้มค่า (Proof of Performance) ของผลิตภัณฑ์ 2. พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และประสิทธิภาพการผลิตตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันอย่างยั่งยืน ผ่านการมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และสูตรอาหาร รวมถึงสูตรอาหารสำหรับสัตว์น้ำชนิดใหม่ เพื่อส่งเสริมให้มีสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น อาหารปลากะพงยักษ์ ปลาเก๋า อาหารปลาสลิด อาหารปู และปลากดคัง เป็นต้น พร้อมพัฒนาสูตรอาหารโดยใช้วัตถุดิบใหม่ เพื่อลดการพึ่งพิงวัตถุดิบประเภทใดประเภทหนึ่ง เช่น การใช้โปรตีนจากพืช และการพัฒนาสูตรการผลิตที่ลดปริมาณการใช้น้ำมันปลา เป็นต้น และสุดท้ายคือการขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโต โดยมีปัจจัยสำคัญในการพิจารณา ได้แก่ ความเป็นไปได้ของการลงทุน อัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ ความเสี่ยงและแนวทางการบริหารหรือลดความเสี่ยง ทั้งนี้ บริษัทจะคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นสูงสุด นายบรรลือศักร กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน TFM มีการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์สินค้าหลักของบริษัทได้แก่ โปรฟีด (PROFEED) นานามิ (NANAMI) อีโก้ฟีด (EGOFEED) แอคควาฟีด (AQUAFEED) และดี-โกรว์ (D-GROW) เป็นต้น ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารกุ้ง โดย TFM เป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มตลาดอาหารกุ้ง มีส่วนแบ่งการตลาดประ 17% ของปริมาณอาหารกุ้งในไทย (ปี 63) 2. ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารปลา (รวมอาหารกบและอาหารปู) แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1. อาหารปลาทะเล เช่น อาหารปลากะพงและปลาเก๋า 2. อาหารปลาน้ำจืด เช่น อาหารปลานิลและปลาดุก 3. อาหารสัตว์น้ำวัยอ่อน สำหรับการอนุบาลลูกปลา และ 4. อาหารกบ โดย TFM เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกและเป็นผู้นำกลุ่มตลาดอาหารปลากระพง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลาที่มีราคาจำหน่ายและอัตรากำไรค่อนข้างสูงกว่าอาหารปลาประเภทอื่นๆ โดยบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดอาหารปลากะพงประมาณ 24% ของปริมาณอาหารปลากระพงไทย (ปี 63) และ 3. ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารสัตว์บก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. อาหารสุกร 2. อาหารสัตว์ปีก โดยบริษัทเริ่มขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจอาหารสัตว์บกปลายปี 61 และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นที่น่าพอใจ สำหรับปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตสินค้า 2 แห่ง คือ 1.โรงงานมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และ 2. โรงงานระโนด อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นทำเลที่มีศักยภาพและเหมาะแก่การประกอบธุรกิจผลิตอาหารสัตว์น้ำ เนื่องจากภาคกลางและภาคใต้เป็นภูมิภาคที่มีการเพาะพันธุ์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สำคัญของประเทศ โดยทั้ง 2 โรงงานมีกำลังการผลิตรวม 273,000 ตันต่อปี (ณ 30 มิ.ย.64) แบ่งเป็นอาหารกุ้ง 153,000 ตันต่อปี อาหารปลา 90,000 ตันต่อปี และอาหารสัตว์บก 30,000 ตันต่อปี รวมถึงเป็นสายการผลิตแบบอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติที่มีระบบการควบคุมและสั่งงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ สามารถติดตามข้อมูลในการผลิตระหว่างกระบวนการผลิตได้ทันที (Real time) ทั้งนี้ TFM มีกลุ่มลูกค้าหลัก คือ ร้านค้าจำหน่ายอาหารสัตว์ และฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์