นางสาวสุธางค์ คนศิลป กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และตัวแทนผู้จัดการการจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่าย บมจ.เบริล 8 พลัส (BE8) กล่าวว่า BE8 คาดว่าจะสามารถเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 50 ล้านหุ้น และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในช่วงต้นเดือน พ.ย.นี้ หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นับหนึ่งแบบไฟลิ่งแล้ว
ทั้งนี้ BE8 มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยเป็นทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 75 ล้านบาท ซึ่งภายหลังเสนอขายหุ้น IPO จะนำเงินไปใช้ขยายธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์ และขยายสาขาต่างประเทศ ลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเสริมศักยภาพ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
นายอภิเษก เทวินทรภักติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BE8 เปิดเผยว่า บริษัทเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Transformation แบบครบวงจรตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ (End-To-End Digital Transformation Expert) ที่มีประสบการณ์มากว่า 12 ปี โดยมีความแข็งแกร่งที่บริษัทมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในธุรกิจ และเทคโนโลยีที่หลากหลาย จึงนำเสนอนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และซอฟต์แวร์ชั้นนำระดับโลกเข้ามาสนับสนุนให้ลูกค้าล้ำหน้า Digital Disruption ด้วยมาตรฐานการให้บริการระดับสากลในกว่า 11 ประเทศทั่วโลก
บริษัทมีวิสัยทัศน์เป็น "คู่คิดทางธุรกิจที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ ด้วยความใส่ใจ ตั้งใจ และความรับผิดชอบ ที่เชื่อมโยง และตอบโจทย์ กลยุทธ์ของลูกค้า เพื่อก่อให้เกิดคุณค่าทางธุรกิจอย่างยั่งยืน" และวางเป้าหมายเป็นผู้นำขับเคลื่อนการทำ Digital Transformation ในระดับภูมิภาคอาเซียน โดยยึดมั่นเสมอมาว่า ?ความสำเร็จของลูกค้า คือความสำเร็จของเรา? (Customer Success is Our Success)
บริการของบริษัทแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1.งานบริการให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์และพัฒนาเทคโนโลยี (Strategy and Technology Consulting) โดยให้คำปรึกษา และวางกลยุทธ์ด้านดิจิทัล (Digital Strategy) รวมไปถึงการวางแผนพัฒนาธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การวางกลยุทธ์ลูกค้าสัมพันธ์ (CRM Strategy) การให้บริการพัฒนาระบบการออกแบบ และการสร้างโซลูชั่นส์ (Implementation) รวมทั้งการติดตั้งระบบต่างๆ ตามแผนงาน ตลอดจนพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีของบุคลากร และการฝึกอบรม (Technology Capability Building)
2.งานบริการเทคโนโลยี (Technology Service) การขายสิทธิการใช้ และการให้เช่าใช้สิทธิการใช้งาน (License and Subscription) โดยนำเสนอซอฟต์แวร์ระดับโลกที่ตอบโจทย์การทำ Digital Transformation อาทิ Salesforce, Google Workspace, Tableau, Snowflake, MuleSoft ฯลฯ พร้อมพัฒนาซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชันเองเพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างหลากหลาย อาทิ BE8 Loyalty Management ฯลฯ การบริการจัดหาคนที่มีความรู้ และเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ตลอดจนให้บริการส่วนงานสนับสนุน และดูแลระบบเทคโนโลยี (Support and Maintenance)
"BE8 เป็นบริษัทแรกและแห่งเดียวในอาเซียนที่ Salesforce Venture เข้าร่วมทุน สะท้อนถึงการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Transformation อย่างแท้จริงประกอบกับการเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ระดับโลก และภายในองค์กรมีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถด้านพัฒนาระบบ และด้านที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ต่างๆ ด้วยความมุ่งมั่นเป็นคู่คิดและเคียงข้างธุรกิจ โดยนำนวัตกรรมแห่งเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาเชื่อมโยงตอบโจทย์กลยุทธ์ของลูกค้าให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด สร้างความสำเร็จสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน" นายอภิเษก กล่าว
นางสาวพิมพ์กานต์ ปุญญเจริญสิน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและนักลงทุนสัมพันธ์ BE8 กล่าวว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีในประเทศไทยมีศักยภาพที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการที่ภาคธุรกิจกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัลอย่างรวดเร็ว และในสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ภูมิทัศน์การดำเนินธุรกิจในตลาดดิจิทัลสำหรับภาคธุรกิจไทย (B2B) เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผลักดันให้ธุรกิจต่างๆ ต้องหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น จากเดิมที่มุ่งเน้นการยกระดับประสิทธิภาพมาสร้างช่องทางการดำเนินธุรกิจใหม่ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลให้แก่ลูกค้า โดยคาดการณ์ตลาดดิจิทัลสำหรับภาคธุรกิจไทย (B2B) ในปี 64 อยู่ที่ 148,704 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 5.2%
ขณะที่กลยุทธ์การตลาด บริษัทวางแผนธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตภายใต้การให้บริการ Digital Transformation แบบครบวงจร (One Stop Service for Digital Transformation) ตั้งแต่การวางกลยุทธ์ การพัฒนาและติดตั้งระบบ การสร้างโมเดลการวิเคราะห์ชั้นสูง และการใช้ปัญญาประดิษฐ์
พร้อมนำเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกจากพันธมิตรมาสนับสนุนธุรกิจให้ประสบความสำเร็จทั้งในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน โดยนำความเชี่ยวชาญ ความเข้าใจในเทคโนโลยีอย่างลึกซึ้ง มานำเสนอการบริการที่ตอบโจทย์กับภาคธุรกิจ รวมทั้งมุ่งวิจัยพัฒนาระบบ และซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับประเภทของการใช้งานตลอดจนพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้ก้าวทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้ลูกค้าผ่านกระบวนการทำ Digital Transformation ให้ก้าวล้ำกับ Digital disruption
ทั้งนี้ บริษัทวางแผนลงทุน 3 ปี (64-66) มุ่งพัฒนาเทคโนโลยี และซอฟต์แวร์ใหม่ๆ เพื่อให้บริการเหมาะสมกับการใช้งานและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับภาคอุตสาหกรรม เช่น ระบบสำหรับกลุ่มสถาบันการเงิน, กลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามลักษณะการใช้งาน เช่น ระบบ Loyalty Management ระบบ Tenant Management และ ระบบ Omni Channel Package เป็นต้น เพื่อสามารถให้บริการลูกค้าภายในระยะเวลาที่เร็วขึ้นและมีต้นทุนลดลง รวมถึงร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศเพื่อผนึกกำลังเสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจให้บริการครบวงจร และก้าวทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมรองรับกับการขยายการให้บริการต่างประเทศ
สำหรับการขยายตลาดต่างประเทศมุ่งขยายธุรกิจไปสู่กลุ่มประเทศในภูมิภาค ภายใต้การเป็นผู้นำการให้บริการ Digital Transformation และการติดตั้งระบบ Customer Relationship Management โดยจะเริ่มรุกทำตลาดเวียดนามก่อน หลังจากได้จัดตั้งบริษัท เบริล 8 พลัส เวียดนาม จำกัด และได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่าย (Reseller Partner) ของ Salesforce เป็นรายแรกในปี 62 คาดว่าจะเริ่มทำการตลาด และขยายการให้บริการได้ตั้งแต่ปี 64-66 เพื่อรับกับโอกาสของตลาดซอฟต์แวร์ในช่วง 4 ปีนับตั้งแต่ปี 64-67 ที่คาดการณ์ว่ามีอัตราการเติบโต 13% นอกจากนี้บริษัทจะอยู่ระหว่างการจัดตั้งบริษัทย่อยในประเทศสิงคโปร์ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ และเป็นสปริงบอร์ดขยายสู่ประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง โดยวางเป้าหมายก้าวสู่ผู้นำการทำ Digital Transformation แบบครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน เพื่อผลักดันธุรกิจของบริษัทเติบโตได้อย่างยั่งยืน
นางสุภัตรา สิมธาราแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่สายงานบัญชีและการเงิน BE8 กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจ 12 ปีที่ผ่านมา บริษัท ได้รับการยอมรับในระดับสากลทั้งจากลูกค้าต่างประเทศทั้งในสหรัฐอเมริกา, เกาหลีใต้, อินโดนีเซีย, ฟิลลิปปินส์, มาเลเซีย, และ เวียดนาม และบริษัทชั้นนำหลายแห่งในประเทศไทยในภาคธุรกิจสถาบันการเงินและประกันภัย กลุ่มธุรกิจค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค โรงงาน และอุตสาหกรรมและอื่นๆ ผลักดันให้บริษัทฯ มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง มีผลการดำเนินงานทั้งในด้านยอดขาย และกำไรเติบโตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในช่วงปี 61-63 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย และให้บริการ 211.57 ล้านบาท 311.49 ล้านบาท และ 312.54 ล้านบาท ตามลำดับ เติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 21.57% และมีกำไรสุทธิ 32.99 ล้านบาท 64.26 ล้านบาท และ 23.64 ล้านบาท ปัจจัยหลักมาจากรายได้จากการให้บริการคำปรึกษาด้านกลยุทธ์ พัฒนาเทคโนโลยี และการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี โดยให้บริการออกแบบ พัฒนา และติดตั้งระบบต่างๆ ซึ่งสามารถขยายฐานลูกค้าขนาดใหญ่ในหลากหลายประเภท ตลอดจนการรักษากลุ่มลูกค้าเดิม และการขยายฐานกลุ่มลูกค้า SMEs เพิ่มขึ้น
ส่วนรายได้รวมในไตรมาส 2/64 (ม.ค.-มิ.ย.) ทำได้ 178.81 ล้านบาท เติบโต 10.23% และมีกำไรสุทธิ 39.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.48 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับในงวด 6 เดือนแรกปี 64 มีการตั้งประมาณการค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่ขาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 2.11 ล้านบาท ลดลงจากงวด 6 เดือนแรกปีก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญจำนวน 38.22 ล้านบาท