นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยในรายการห่วงใย Thai Business ว่า ด้วยเทรนด์ในอนาคตที่จะเกิดขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจ Oil&Gas ต้องเผชิญกับเมกะเทรนด์ หรือ ความต้องการใช้น้ำมันที่จะปรับตัวลดลงหลังช่วง 10-15 ปีข้างหน้า โดยจะถูกทดแทนด้วยรถยนต์ไฟฟ้า (EV), เครื่องจักรที่ใช้น้ำมันก็จะเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ซึ่งเป็นเทรนด์ที่เรียกว่า Energy Disruption หรือ Energy Transition คือการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่เป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น มีการเจรจาผ่านออนไลน์กันมากขึ้น เป็นต้น ซึ่งมองว่าการใช้ชีวิตของคนก็จะเปลี่ยนไปสู่ New Normal จากวิกฤตโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่ง
จากปัจจัยดังกล่าว บริษัทฯ ได้มีการปรับตัวอย่างหนัก โดยได้วางยุทธศาสตร์ในการทรานฟอร์มสู่การเป็น Energy and Chemical ซึ่งจะไม่ได้ผลิตแต่น้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว แต่จะต่อยอดไปสู่ปิโตรเคมี จำพวกเคมีภัณฑ์ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงมากขึ้นในอนาคต
แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว สามารถแบ่งออกเป็น 3V ได้แก่ 1. Value Maximization การต่อยอดจากธุรกิจโรงกลั่น สู่ธุรกิจปิโตรเคมี สายโอเลฟินส์ ล่าสุดบริษัทได้เข้าไปร่วมลงทุนในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ประเทศอินโดนีเซีย ผ่านบริษัทย่อย ใช้เงินลงทุนราว 40,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายไปสู่สายโอเลฟินส์ของบริษัทฯ
2. value extension และ 3. Value Diversification เพื่อก้าวสู่การเป็นธุรกิจพลังงาน และเคมีภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ บริษัทยังวางแนวทางการบริหารความเสี่ยงขององค์กร ด้วย 3 สิ่ง คือ ความคล่องตัว ความรวดเร็ว เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง, ความยืดหยุ่น และความสามารถ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง คาดว่าด้วยกลยุทธ์ดังกล่าวของบริษัทฯ จะช่วยให้บริษัทเติบโตก้าวสู่ปีที่ 100 ได้
สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทคาดว่าจะกลับมาดีขึ้น แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยังอยู่ แต่เริ่มคลี่คลายลง และประเทศไทยก็มีการคลายล็อกดาวน์มากขึ้น ทำให้เชื่อมั่นว่าจะเป็นเวลาที่ดีที่ธุรกิจของบริษัทจะกลับมาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"ในปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่ามี Black Swan หลายตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโควิด-19 การล็อกดาวน์ทั่วโลก และสงครามราคาน้ำมัน ส่งผลกระทบต่อ TOP ไปค่อนข้างมาก โดยปีที่แล้วไตรมาส 1 ไตรมาสเดียวเราขาดทุนไปราว 14,000 ล้านบาท แต่ 3 ไตรมาสหลังก็ได้คืนกลับมา หรือมีกำไรประมาณ 10,000 ล้านบาท แม้สถานการณ์จะไม่เอื้อต่อเราเลย ทั้งเรื่องโควิด-19 ที่ยังแพร่ระบาดต่อเนื่อง, ค่าการกลั่น GRM ที่ปรับตัวลงไปกว่า 1 เหรียญฯ/บาร์เรล จากระดับปกติที่อยู่ราว 3-4 เหรียญฯ/บาร์เรล และบางช่วงในไตรมาส 3/63 ก็ติดลบ หรือการกลั่นน้ำมันขาดทุน แต่โชคดีที่เรามีบริษัทลูกที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน ทำให้ช่วยผยุงกลุ่มบริษัทฯ เอาไว้ และส่งผลให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนในปีที่แล้วราว 3,000 ล้านบาท ซึ่งมองว่าไม่ได้แย่มาก และปีนี้คาดว่าจะกลับมาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง" นายวิรัตน์ กล่าว