นายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บมจ.ฐิติกร (TK) เปิดเผยถึงข้อเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์ และเครื่องจักรกลการเกษตรเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาว่า ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มีความเปราะบางและมีความเสี่ยงสูงกว่าสินเชื่ออื่นๆ เนื่องจากผู้ใช้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ และไม่มีหลักฐานทางการเงินใด ๆ ประกอบการยื่นเพื่อใช้ในการขออนุมัติสินเชื่อนอกจากบัตรประชาชนเพียงใบเดียว ทำให้การอนุมัติสินเชื่อประเมินความเสี่ยงได้ยาก ในขณะที่จากสถิติพบว่ากลุ่มลูกค้าเช่าซื้อรถจักรยานยนต์มีการผิดนัดชำระหนี้สูงกว่าสินเชื่อรายย่อยอื่นๆ
อนึ่ง พอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ทั้งระบบมีมากกว่า 60,000-72,000 ล้านบาทต่อปี โดยประมาณจากยอดขายรถจักรยานยนต์ภายในประเทศที่มีถึง 1.8 ล้านคัน โดยผู้บริโภคซื้อรถด้วยเงินสด 20% และเป็นการเช่าซื้อถึง 80% หรือ 1.44 ล้านคันต่อปี ด้วยยอดปล่อยสินเชื่อเฉลี่ยคันละ 40,000-50,000 บาท ด้านความเสียหายของสินเชื่อรถจักรยานยนต์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปี 2560 ได้รายงานว่ามีสูงถึง 37.2% ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่นๆ กล่าวคือ หากมีการปล่อยสินเชื่อปีละ 1.44 ล้านคัน จะมีความเสียหายมากว่า 20,000-25,000 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นตัวเลขจากการศึกษาก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่น่าจะมีความเสียหายสูงกว่าตัวเลขดังกล่าว
"เทียบกับสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์และพิโกไฟแนนซ์แล้ว สินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์มีความเสี่ยงด้าน Financial Risk หรือความเสี่ยงทางการเงินสูงกว่า เนื่องจากยอดหนี้ต่อรายสูงกว่า เช่าซื้อรถจักรยานยนต์เฉลี่ยสัญญาละ 40,000-50,000 บาท ในขณะที่สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์และพิโกไฟแนนซ์ยอดเฉลี่ย 20,000-25,000 บาทต่อสัญญา ระยะเวลาผ่อนนานกว่า เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ผ่อนนาน 24-48 เดือน แต่สัญญาสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์และพิโกไฟแนนซ์ผ่อนประมาณ 12 เดือน และต้นทุนการให้บริการทั้งต้นทุนในการปล่อยสินเชื่อและต้นทุนการให้บริการต่องวดต่อบัญชีสูงกว่า รวมทั้งความเสียหายของสินเชื่อรถจักรยานยนต์ก็สูงกว่าถึง 37.2%" นายประพล กล่าว
การกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมา ทั้งสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งกำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยที่ 33% ซึ่งปรับลดจาก 36% และสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้กำกับดูแลได้กำหนดเพดานดอกเบี้ย 33-36%
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยอดสินเชื่อคงค้างรวมของทุกผู้ประกอบการของทั้งสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์และสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ณ เดือน เม.ย.64 มีมูลค่าเพียง 21,939 ล้านบาท โดยคุณภาพลูกหนี้ ณ สิ้นปี 63 มีลูกหนี้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ผิดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไป จำนวนรวม 1,061 ล้านบาท หรือ คิดเป็น NPL 6.08% ส่วนสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ สิ้นเดือน มิ.ย.64 มีหนี้เสียอยู่ที่ 32.2%
ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าต้นทุนในการให้บริการสินเชื่อข้างต้นเทียบกับเพดานดอกเบี้ยที่กำหนดจากทั้งสองหน่วยงานไม่คุ้มกับการดำเนินงานของผู้ให้บริการและกับความเสี่ยงต่อลูกหนี้กลุ่มนี้ ส่งผลให้จำนวนเงินกู้รวมของทั้งสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์และสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่าหนี้นอกระบบที่หลายหน่วยงานคาดว่ามีมูลค่าถึงหลายแสนล้านบาท
ทั้งนี้ ในกรณีที่ทาง สคบ. มีความประสงค์ที่จะช่วยลดภาระให้กับผู้มีรายได้น้อยด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยลงต่ำเกินราคาเสรี อาจมีผลกระทบกับการพิจารณาอนุมัติเงินกู้เช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์ และเครื่องจักรกลการเกษตร ของผู้ประกอบการ ทำให้ผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และอาจต้องไปพึ่งพาการกู้หนี้นอกระบบ ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องการลดหนี้นอกระบบด้วยการสร้างแหล่งเงินที่ผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้