IPOInsight: TFM ผ่าเรือธงเครือ TU สู่แผนเพิ่มมูลค่ายักษ์ประมงโลก

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 27, 2021 15:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เป็นอีกหนึ่งหุ้นที่นักลงทุนน้อยใหญ่เฝ้ารอคอยเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นเจ้าของธุรกิจ บมจ.ไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ (TFM) ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำและสัตว์เศรษฐกิจรายใหญ่สัญชาติไทย แต่มีศักยภาพความได้เปรียบทางการแข่งขันระดับโลก ซึ่งเป็นธุรกิจเรือธงของกลุ่ม บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ยักษ์ใหญ่อันดับต้นๆ ในอุตสาหกรรมการประมงของโลก

ล่าสุด TFM มีความพร้อมเดินหน้านำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เป็นวันแรกในวันที่ 29 ต.ค.นี้ด้วยราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ 13.50 บาทต่อหุ้น

*กว่า 20 ปีสู่ธุรกิจเรือธงเครือ TU ผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่

นายบรรลือศักร โสรัจจกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TFM เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า ย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน TU Group มองเห็นถึงโอกาสการเติบโตของตลาดอาหารสัตว์เศรษฐกิจที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นที่มาของการก่อตั้ง TFM ขึ้นเมื่อปี 2543 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ช่วงนั้นบริษัทใช้กำลังการผลิต (Capacity) เต็มภายใน 1 ปีเท่านั้น ทำให้ปี 2544 มีการลงทุนซื้อที่ดินและสร้างโรงงานใหม่ที่จังหวัดสมุทรสาครเพิ่มอีก 1 แห่ง

ต่อมาในปี 2546 บริษัท AVANTI FEEDS ผู้ประกอบธุรกิจอาหารกุ้งกุลาดำจากประเทศอินเดีย ซึ่งมีมาร์เก็ตแชร์เป็นลำดับ 4 ของตลาดอินเดียติดต่อเข้ามาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์น้ำ ซึ่งปัจจุบันก้าวขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งของตลาดอินเดีย ซึ่ง TFM ก็ได้ Royalty Fee มาเป็นค่าตอบแทน นับเป็นรายได้หลักส่วนหนึ่งที่มาจากต่างประเทศ

และในปี 2549 ได้ขยายเข้าสู่อุตสาหกรรมผลิตอาหารปลา จากเดิมที่ผลิตเพียงแค่อาหารกุ้งเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง ก่อนจะเริ่มขยายไปสู่การผลิตอาหารสัตว์บกเมื่อปี 2561 ประกอบไปด้วย อาหารสุกร และอาหารสัตว์ปีก โดยเพิ่มโรงงานผลิตอีก 1 แห่งที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

ส่วนในปี 2563 บริษัทพูดคุยกับนักธุรกิจด้านห้องเย็นและการแปรรูปสัตว์น้ำจากอินโดนีเซีย และจัดตั้งบริษัทร่วมกันชื่อ PTMSK โดยมีโรงงานตั้งอยู่ในประเทศอินโดนีเซียและ TFM ถือหุ้นในสัดส่วน 65% และยังมีบริษัทจากประเทศปากีสถานอย่าง AMG ผู้ประกอบธุรกิจผลิตอาหารปลาน้ำจืดติดต่อเข้ามา จึงได้เปิดบริษัทร่วมกันชื่อ AMGTFM โดยทาง TFM ถือหุ้นในสัดส่วน 51% เริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 ที่ผ่านมา

ดังนั้น ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตในประเทศทั้งหมด 3 แห่ง เป็นโรงงานที่จังหวัดสมุทรสาคร 2 แห่ง ได้แก่ โรงงานผลิตอาหารกุ้งมีทั้งหมด 6 ไลน์ผลิต กำลังผลิตรวม 102,000 ตัน/ปี และโรงงานผลิตอาหารปลา 5 ไลน์ผลิต กำลังผลิตรวม 90,000 ตัน/ปี ส่วนอีกหนึ่งโรงงานที่จังหวัดสงขลานั้น มีกำลังผลิตอาหารกุ้ง 66,000 ตัน/ปี และกำลังผลิตอาหารสัตว์บก 30,000 ตัน/ปี รวมกำลังผลิตทั้ง 3 โรงงานอยู่ที่ 270,000-280,000 ตัน/ปี

ขณะที่มีโรงงานร่วมทุนในต่างประเทศ คือ อินโดนีเซีย และปากีสถาน

*ชูศักยภาพแข่งขันสูง สู่ผู้นำอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เศรษฐกิจเมืองไทย

บริษัทผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์สินค้าหลัก ได้แก่ โปรฟีด (PROFEED), นานามิ (NANAMI), อีโก้ฟีด (EGOFEED), แอคควาฟีด (AQUAFEED) และดี-โกรว์ (D-GROW)

ผลิตภัณฑ์หลักแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารกุ้ง บริษัทมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 17% ของปริมาณอาหารกุ้งในไทย 2.ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารปลา (รวมอาหารกบและอาหารปู) แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่อาหารปลาทะเล เช่น อาหารปลากะพงและปลาเก๋า อาหารปลาน้ำจืด เช่น อาหารปลานิลและปลาดุก อาหารสัตว์น้ำวัยอ่อน สำหรับการอนุบาลลูกปลาอาหารกบ และ 3.ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารสัตว์บก แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ อาหารสุกร อาหารสัตว์ปีก

นายบรรลือศักร กล่าวว่า แม้จะมีผู้เล่นหลายรายในตลาดอาหารกุ้ง แต่ TFM ก็เติบโตจนเป็นเบอร์ 2 และมีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดอาหารกุ้งประเทศราว 17% ส่วนอาหารปลากระพงเป็นเบอร์ 1 มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 24-34% ด้านตลาดต่างประเทศอย่างอินเดียจากอดีตที่เคยเป็นเบอร์ 4 ในตลาดอาหารสัตว์น้ำ ปัจจุบันก้าวเข้าสู่การเป็นเบอร์ 1 ครองมาร์เก็ตแชร์ถึง 50% ในตลาดอินเดีย

การประสบความสำเร็จของ TFM นี้มาจากประสบการณ์และชื่อเสียงของแบรนด์สินค้า ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 8 แบรนด์หลัก และมีแบรนด์เพื่อกลยุทธ์ทางการตลาดอีกราว 15 แบรนด์ ประกอบกับ ความเข้มแข็งของ Local Partner ในอินโดนีเซียและปากีสถานก็ช่วยส่งเสริมการเติบโตด้านยอดขายและมาร์เก็ตแชร์เช่นกัน

นอกจากนี้ บริษัทยังนำวิชาการไปส่งเสริมเกษตรกรที่เลือกใช้สินค้าของ TFM เพื่อให้เกษตรกรประสบความสำเร็จในการเลี้ยงสัตว์ นำไปสู่การเติบโตพร้อมกันแบบยั่งยืน

"TFM ไม่ได้มองเพียงแค่การเติบโตของบริษัทแต่ยังมองถึงการเติบโตของเกษตรกร โดยมีการนำเทคโนโลยีทางด้านการผลิตมาควบคุมสินค้าให้มีคุณภาพ ตอบโจทย์เกษตรกรได้อย่างตรงจุด ขณะเดียวกันเราก็นำวิชาการไปส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ให้เกษตรกรที่ใช้สินค้าของเราได้ประสบความสำเร็จ นำไปสู่การเติบโตพร้อมกันแบบยั่งยืน เพราะถ้าลูกค้าประสบความสำเร็จ เราก็จะประสบความสำเร็จไปกับลูกค้าด้วย" นายบรรลือศักร กล่าว

*ส่องโอกาสเติบโตอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ในไทย

สำหรับการเติบโตผลประกอบการของบริษัท โดยภาวะปกติมีรายได้เติบโตเฉลี่ยราว 8-12% ต่อปี ส่วนอัตราอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ประมาณ 14-18% และมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 8-12% ขณะที่สัดส่วนโครงสร้างรายได้ของบริษัทในปัจจุบัน แบ่งเป็นอาหารกุ้ง 50% อาหารปลา 40% อาหารสัตว์บก 7% และอื่นๆ 3-4%

รายได้หลักของบริษัทมาจากอาหารปลา ซึ่งมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 5-10% ต่อปี แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยราคาปลาและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีการใช้อาหารเม็ดเพื่อเลี้ยงปลากระพงราว 90% เมื่อเทียบกับสมัยอดีตที่เลี้ยงด้วยอาหารสดทั่วไป และบางครั้งอาหารสดจะประสบปัญหาด้านการเก็บรักษา ส่งผลให้ปลาที่เลี้ยงไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน ดังนั้น การที่เกษตรกรเปลี่ยนมาใช้อาหารเม็ดมากขึ้นจึงส่งผลดีต่อยอดขายของบริษัท

สำหรับสัดส่วนรายได้หลักอย่างอาหารกุ้งตั้งแต่เจอโรคกุ้งตายด่วน (Shrimp Early Mortality Syndrome หรือ EMS) เมื่อ 9 ปีที่แล้ว อุตสาหกรรมกุ้งก็ไม่เติบโตมาสักระยะหนึ่ง แต่ทางบริษัทก็มองไปยังสัดส่วนมาร์เก็ตแชร์ที่สามารถขยายต่อไปได้อีก เพราะปัจจุบันแม้ว่าบริษัทจะเติบโตจนเป็นเบอร์ 2 ในตลาดกุ้งประเทศไทยแต่ยังคงมีมาร์เก็ตแชร์เพียงแค่ 17% เท่านั้น ยังมีพื้นที่ให้ขยายอีกมากว

*ขานรับเปิดประเทศเร่งยอดขาย ชูกลยุทธ์ตีตลาดต่างประเทศ

แม้ว่าในปีนี้ประเทศไทยจะเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว และการบริโภคลดลง ส่งผลให้กำลังซื้อในปลากระพงลดลงตามไปด้วย แต่ยอดขายในช่วง H1/64 ก็ยังสามารถเติบโตได้ 10% YoY จากการเติบโตในตลาดปลาน้ำจืดสายพันธุ์อื่น เช่น ปลานิล ปลาดุก หรือ ปลาสลิด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ตลาดปลากระพงที่ได้รับผลกระทบจากความต้องการที่ลดลงนั้น บริษัทพยายามผลักดันตลาดให้โตขึ้นด้วยการให้เกษตรกรเลี้ยงแล้วทำตลาดเองหรือส่งเสริมให้มีการแปรรูปที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อขยายตลาดผู้บริโภคในประเทศ ขณะเดียวกันสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ก็ดีขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้รัฐบาลเตรียมเปิดประเทศผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น ทำให้การบริโภคในประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัวส่งผลดีต่อรายได้ของบริษัทในอนาคต

ส่วนแผนการขยายไปตลาดต่างประเทศนั้น บริษัทจะมุ่งเน้นในอินโดนีเซียเป็นหลัก เนื่องจากเป็นตลาดที่ใหญ่มีประชากรราว 280 ล้านคน และยังได้รับประโยชน์จากโครงการระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (Generalized System of Preference : GSP) ในการส่งออกไปยังตลาดยุโรปอีกด้วย

ที่ผ่านมา TFM ใช้เงินลงทุนราว 600 ล้านบาทเพื่อสร้างโรงงานในอินโดนีเซียทั้งหมด 4 ไลน์ผลิต ซึ่งปัจจุบันเริ่มเพียงแค่สองไลน์ผลิต เป็นไลน์ผลิตอาหารกุ้ง มีกำลังการผลิต 36,000ตัน/ปี คาดว่าจะทดสอบระบบโรงงานได้ปลายเดือน พ.ย.นี้ และจะรับรู้รายได้เต็มปีในปี 65

ขณะที่ บริษัทร่วมทุนในปากีสถาน คือ AMG-Thai Union Feedmill (Private) Limited (AMG-TFM) ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำ ณ วันที่ 30 มิ.ย.2564 มีกำลังการผลิตอาหารปลา 7,000 ตัน/ปี และมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 15,000 ตัน/ปีภายในปี 2564

ด้านการเติบโตในปากีสถานยังคงต้องใช้เวลา เพราะเป็นระบบการเลี้ยงปลาแบบดั้งเดิม แต่ยังคงมองเห็นศักยภาพในการเติบโตสูง เนื่องจากมีจำนวนประชากรสูงถึง 220 ล้านคน และมีชายแดนติดกับจีนและประเทศตะวันออกกลาง สะดวกในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆ

นอกจากนี้ บริษัทยังส่งออกสินค้าไปในประเทศศรีลังกา เมียนมา มาเลเซีย และบังกลาเทศ แต่ยังคงไม่มีแผนการจัดตั้งโรงงาน เนื่องจากตลาดยังมีขนาดเล็ก และยังคงต้องการให้ความสำคัญกับการเติบโตในประเทศอินโดนีเซียและปากีสถานก่อน แต่ถ้าเกิดในอนาคตเห็นการเติบโตของตลาดประเทศอื่นก็จะพิจารณาการตั้งโรงงานอีกครั้งหนึ่ง

*เป้า 5 ปียอดขายโตเท่าตัว-โอกาสเปิดเข้าซื้อกิจการในอนาคต

นายบรรลือศักร กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ในประเทศเติบโตที่ 5-10% ต่อปี ซึ่งหากพิจารณาจากภาพรวมของยอดขายรวมปี 2563 อยู่ที่ 4.2 พันล้านบาท และคาดว่ารายได้จะแตะ 8 พันล้านบาทภายใน 5 ปีข้างหน้า

ส่วนเป้าการเติบโตของตลาดอินโดนีเซียคาดว่าปีแรกจะมีรายได้คิดเป็นสัดส่วน 10% ของรายได้รวมทั้งหมด และปีที่ 2 เพิ่มเป็น 15-20% ส่วนปีที่ 3 จะเพิ่มเป็น 20-25%

นอกจากนี้ บริษัทเปิดโอกาสสร้างการเติบโตด้วยโมเดลเข้าซื้อกิจการในอนาคต แต่ต้องศึกษาธุรกิจนั้นว่ามีโอกาสและมีความเหมาะสมกับกิจการของบริษัทที่จะสามารถมาส่งเสริมความแข็งแกร่งให้แก่กันได้คุ้มค่าอย่างไร

"บริษัทมุ่งเน้นบริหารความเสี่ยงมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนหลักราว 80-85% ของธุรกิจอาหารสัตว์คือ ต้นทุนวัตถุดิบ ซึ่งมีข้อได้เปรียบคือ บริษัทต้องใช้หลายวัตถุดิบเพื่อมาผลิตสินค้า ยกตัวอย่างเช่น วัตถุดิบประมาณ 10-20 ชนิด มาผลิตสินค้า 1 ตัวดังนั้นพอหาวัตถุดิบมาทดแทนกันได้บ้าง โดย 3 วัตถุดิบหลักเพื่อผลิตอาหารสัตว์ประกอบไปด้วย ปลาป่น กากถั่วเหลือง และแป้งสาลี มีความท้าทายจากปัจจัยเรื่องฤดูกาลและการควบคุมราคาวัตถุดิบเป็นสินค้า Commodity แต่บริษัทก็บริหารจัดการด้วยการมี Supplier หลายเจ้าและมีการล็อคราคาสินค้าเอาไว้ ทำให้สามารถบริหารและจัดการต้นทุนได้ ยกตัวอย่าง กากถั่วเหลืองที่ซื้อจากพันธมิตรอย่าง บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด และ บมจ.น้ำมันพืชไทย (TVO) โดยจะมีการพูดคุยล็อคราคากันไว้ก่อนและทยอยส่งมอบตามกำหนด รวมไปถึงยังมีการนำเข้ากากถั่วเหลืองจากต่างประเทศอีกช่องทางหนึ่ง เพื่อให้เพียงพอกับคำสั่งซื้อที่มีเข้ามาด้วย"นายบรรลือศักร กล่าว

*เข้าตลาดหุ้นปลดล็อคอัพไซด์ธุรกิจเครือ TU

นายบรรลือศักร กล่าวว่า บริษัทจะนำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนครั้งนี้ไปใช้ขยายธุรกิจในอินโดนนีเซียและปากีสถานเป็นหลัก เพิ่มสภาพคล่องในแง่ของเงินทุนหมุนเวียนต่างๆ ซึ่งจะทำให้ฐานะทางการเงินบริษัทมีความแข็งแกร่งมากขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาบริษัทจะให้ความสำคัญกับการรักษาวินัยทางการเงินสะท้อนจากอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E ratio) อยู่ในระดับต่ำเพียง 0.7-0.9 เท่า

"การประเมินราคา IPO ครั้งนี้ที่ 13.50 บาท/หุ้นมาจากผลประกอบการที่บริษัททำมาร่วม 21 ปี จะเห็นว่าตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจนี้ปีแรกก็มีกำไรมาตลอด แม้จะเกิดภาะวิกฤติทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ แต่บริษัทก็สามารถทำกำไรอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ด้านฐานะการเงินก็มีความแข็งแกร่ง ประกอบกับแผนการเติบโตในอนาคตของบริษัท"นายบรรลือศักร กล่าว

https://youtu.be/4nDuDeGFjIY


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ