(เพิ่มเติม) SCC คาดรายจ่ายลงทุน-เงินลงทุนปี 65 ราว 4 หมื่นลบ.จาก 8-9 หมื่นลบ.ในปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 27, 2021 18:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) เปิดเผยว่า บริษัทคาดการณ์รายจ่ายลงทุนและเงินลงทุนที่จะเกิดขึ้นในปี 65 จำนวนประมาณ 40,000 ล้านบาท จากคาดการณ์รายจ่ายลงทุนและเงินลงทุนที่จะเกิดขึ้นในปี 64 อยู่ที่ประมาณ 80,000-90,000 ล้านบาท โดยจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งมาจากการลงทุนเข้าซื้อหุ้นโครงการต่างๆ และการก่อสร้างโครงการ Long Son Petrochemicals (LSP) ในประเทศเวียดนาม

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 64 บริษัทมีรายจ่ายลงทุนและเงินลงทุน 72,296 ล้านบาท โดยสัดส่วนการลงทุนเป็นของธุรกิจเคมิคอลส์ 66% ธุรกิจแพ็คเกจจิ้ง 23% ธุรกิจซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง 8% และส่วนงานอื่น 3% ทั้งนี้ รายจ่ายลงทุนและเงินลงทุนส่วนใหญ่ใช้สำหรับโครงการปิโตรเคมีครบวงจรของ LSP แผนการลงทุนในโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งที่ 2 ในประเทศอินโดนีเซียของบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) และการเข้าควบรวมกิจการของธุรกิจแพ็คเกจจิ้ง

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 64 บริษัทมี EBITDA เท่ากับ 70,457 ล้านบาท ในขณะที่มีกระแสเงินสดจ่ายทั้งสิ้น 110,948 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยรายจ่ายลงทุนและเงินลงทุน 72,296 ล้านบาท จ่ายเงินปันผล 23,833 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ย 5,897 ล้านบาท และจ่ายภาษีเงินได้ 8,922 ล้านบาท

สำหรับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability) บริษัทมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจสู่เป้าหมายของการเป็นองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 93 และได้กำหนดเป้าหมายระยะกลางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างน้อย 20% ภายในปี 73 เมื่อเทียบกับปีฐาน 63 ผ่านการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการผลิตโดยตรง (Scope 1) และที่เกิดขึ้นโดยอ้อม (scope 2) และการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อให้สอดคล้องกับการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ เป้าหมายระยะกลางดังกล่าวจะคำนวณมาจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบ Absolute (ตัน CO2 ต่อปี) ของธุรกิจทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ แทนที่การคำนวณแบบ Intensity-based (CO2 ต่อหน่วย) หรือกรณีปกติ BAU แบบเดิม ยิ่งไปกว่านั้น ยังร่วมมือกับผู้ขายและลูกค้าตลอดห่วงโซ่อุปทาน ในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (Scope 3) โดยจะเริ่มนำเสนอ ข้อมูลเป็นครั้งแรกในรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 64 ต่อไป

ในปี 63 SCC ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมธุรกิจทั้งในประเทศ ไทยและนอกประเทศอยู่ที่ 33.9 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และคาดการณ์ว่าจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จากการขยายกำลังการผลิตในธุรกิจต่างๆ เช่น โครงการ LSP ในประเทศเวียดนามที่จะก่อสร้างเสร็จภายในปี 66 และการเข้าซื้อหุ้น (Merger & partnership) ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม SCC มุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเหลือไม่เกิน 27.1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์หรือลดลงอย่างน้อย 20% ภายในปี 73 เมื่อเทียบกับปีฐาน 63

สำหรับกลยุทธ์ที่นำมาใช้เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในธุรกิจปัจจุบัน และยังเป็นแนวทางเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายลดลง 20% ภายในปี 73 ดังนี้

1. ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดที่มีอยู่

2. เพิ่มการใช้พลังงานทางเลือก เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านการใช้ชีวมวลและพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ

3. เร่งพัฒนาผลิตสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์ต่ำ โดยใช้นวัตกรรมตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน

4. ลงทุนด้านเทคโนโลยีการดูดซับและการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ เพื่อเร่งให้เกิดการใช้เทคโนโลยีการดูดซับ การดักจับและการกักเก็บในธุรกิจได้มากขึ้น

5. การหาแนวทางการลดสภาวะโลกร้อนผ่านความร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานภาครัฐด้านกิจกรรมการปลูกป่าและการฟื้นฟูป่าไม้เพื่อให้ป่าไม้สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในบรรยากาศได้มากขึ้น (carbon sink)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ