บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทจะเข้าลงทุนโดยการเข้าซื้อหุ้นสามัญใน บมจ. สหโคเจน (ชลบุรี) (SCG) จากผู้ถือหุ้นปัจจุบันบางรายของ SCG และเข้าซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ SCG ซึ่งจะออกและจัดสรรให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) รวมมูลค่าราว 3.4 พันล้านบาท ก่อนจะทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือของ SCG ซึ่งหากสามารถซื้อหุ้นได้ทั้งหมดจะต้องใช้เงินอีก 3,279 ล้านบาท
ในวันนี้บริษัทฯได้ลงนามในสัญญา ดังนี้
- สัญญาซื้อขายหุ้นจำนวน 34 ฉบับ ระหว่าง RATCH และผู้ถือหุ้น SCG จำนวน 34 ราย ซึ่งรวมถึง บมจ. สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง (SPI) เพื่อซื้อหุ้น SCG จำนวนรวมทั้งสิ้น 384,789,131 หุ้น คิดเป็น 40.29% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ SCG ก่อนการออกและจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน (หรือคิดเป็น 33.07% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ SCG ภายหลังจากการออกและจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน) ในราคาหุ้นละ 5.75 บาท คิดเป็นเงินจำนวน 2,212,537,503.25 บาท
- สัญญาจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน SCG จำนวน 208,695,652 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท (คิดเป็นร้อยละ 17.93 ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ SCG ภายหลังจากการออกและจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน ของ SCG ให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement)) ในราคาจองซื้อหุ้นละ 5.75 บาท คิดเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 1,199,999,999 บาท
ภายหลังการเข้าทำธุรกรรม บริษัทจะได้มาซึ่งหุ้นสามัญของ SCG เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 593,484,783 หุ้นโดยคิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้น 51% ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของ SCG ภายหลังจากการออกและจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่บริษัท และจะส่งผลให้ SCG มีสถานะเป็นบริษัทย่อยของ RATCH ซึ่งจะทำให้บริษัทมีหน้าที่ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมดของ SCG จำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 570,210,869 หุ้น (คิดเป็น 49% ของหุ้น SCG ภายหลังเพิ่มทุน) ในราคา 5.75 บาทต่อหุ้น ภายในระยะเวลาที่กำหนด
RATCH ระบุว่า การเข้าลงทุนในครั้งนี้เพื่อสร้างพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง โดย RATCH มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขนาดต่างๆ และกลุ่มสหพัฒน์ เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจหลักคือธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นดั้งเดิมของ SCG ที่จะยังคงสัดส่วนการถือหุ้นใน SCG อย่างมีนัยสำคัญที่จะผนึกกำลังกันเสริมสร้างธุรกิจผลิตไฟฟ้าของ SCG ให้มีความแข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืนเต็มศักยภาพต่อไป รวมทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในโครงการอื่นๆกับกลุ่มสหพัฒน์ในอนาคต
การลงทุนในครั้งนี้เป็นไปตามเป้าหมายการเพิ่มกำลังการผลิตรวมของบริษัทที่ 10,000 เมกะวัตต์ และมูลค่ากิจการรวม 200,000ล้านบาท ภายในปี 68 และสอดคล้องกับกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งในธุรกิจผลิตไฟฟ้า ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ต่อไป โดยบริษัทจะใช้เงินทุนกู้ หรือ เงินทุนหมุนเวียนในบริษัทเพื่อเป็นทุนสำหรับการเข้าลงทุนในครั้งนี้ นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH เปิดเผยว่า คาดว่าธุรกรรมทั้งหมดจะแล้วเสร็จในเดือนธ.ค.64 ซึ่งบริษัทจะร่วมกับเครือสหพัฒน์ เป็นพันธมิตรในการลงทุนและพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตั้งเป้าผลักดัน SCG เติบโตโดยเฉพาะด้านพลังงานทดแทน รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมพลังงานและความร่วมมือในธุรกิจอื่นๆ
ความสำเร็จของการร่วมทุนครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการรักษาและสร้างฐานธุรกิจผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าที่จะลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดเล็กประเภทโคเจนเนอเรชั่นที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์และมีลูกค้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำแน่นอนแล้ว สำหรับโรงไฟฟ้าสหโคเจน ปัจจุบันได้ผลิตไฟฟ้าจำหน่ายแก่ลูกค้าอุตสาหกรรม รวมกว่า 70 แห่ง รวมถึงในเครือของสหพัฒน์ด้วย นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มว่า ความต้องการไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรมจะเพิ่มมากขึ้น ตามจำนวนลูกค้าของสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทยังเห็นโอกาสและศักยภาพที่จะพัฒนาธุรกิจต่อยอดรองรับการเปลี่ยนผ่านของระบบจำหน่ายไฟฟ้าไปสู่สมาร์ทกริด หรือไมโครกริดในอนาคตด้วย
"โรงไฟฟ้าสหโคเจน เป็นโครงการประเภทโคเจนเนอเรชั่น ในประเทศไทยแห่งที่ 7 ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นยังเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์กับกลุ่มสหพัฒน์ ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคของประเทศไทย ตอบสนองกลยุทธ์ด้านพันธมิตรอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ และมีนัยสำคัญต่อความสำเร็จของเป้าหมายการเป็นบริษัทชั้นนำด้านพลังงานและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ทั้งสองฝ่ายต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกันและพร้อมที่จะผนึกความแข็งแกร่งและความเชี่ยวชาญในทุกด้านร่วมกันขยายฐานธุรกิจผลิตไฟฟ้าและที่เกี่ยวข้อง"นางสาวชูศรี กล่าว
นายวิชัย กุลสมภพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG กล่าวว่า โรงไฟฟ้าสหโคเจนในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์-ศรีราชา ถือเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าขนาดเล็กระบบโคเจนเนอเรชั่นรุ่นแรกของประเทศไทย การได้มีพันธมิตรอย่าง RATCH ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้ามาร่วมลงทุนในการขยายธุรกิจเป็นสิ่งที่น่ายินดี และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับโรงงานในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์-ศรีราชาได้ในระยะยาว อีกทั้งยังสามารถสร้างโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ กับกลุ่มราช กรุ๊ป ในอนาคตต่อไป
สำหรับ SCG ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมสูงสุด 214 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 96 ตัน/ชั่วโมง โดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ 90 เมกะวัตต์ จำหน่ายแก่ กฟผ.และส่วนที่เหลือรวมทั้งไอน้ำจำหน่ายแก่โรงงานอุตสาหกรรมในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์-ศรีราชา
SCG ยังได้ลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล อีก 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวล กำลังการผลิต 9.6 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์-ลำพูน จังหวัดลำพูน ดำเนินงานภายใต้ บริษัท สหโคเจน กรีน จำกัด (ถือหุ้นทั้งหมด) จำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 8 เมกะวัตต์ และจำหน่ายไอน้ำให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้าชีวมวล กำลังการผลิต 7.5 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในจังหวัดกำแพงเพชร ดำเนินงานโดยบริษัท สหกรีน ฟอเรสต์ จำกัด (ถือหุ้น 75%) จำหน่ายไฟฟ้าให้กับ กฟภ.7 เมกะวัตต์
อีกทั้งยังมีการร่วมทุนในบริษัท อิมแพค โซล่าร์ จำกัด (ถือหุ้น 21%) ดำเนินธุรกิจติดตั้งโซล่าร์บนหลังคาภายในสวนอุตสาหกรรมและขายไฟฟ้าตรงสำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยกำหนดเป้าหมายไว้ประมาณ 53 เมกะวัตต์