ทริสเรทติ้งปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ไทยโพลีคอนส์ (TPOLY) มาอยู่ที่ระดับ "BBB-" จากระดับ "BBB" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" โดยการปรับลดอันดับเครดิตดังกล่าวเกิดจากกำไรที่ลดลงอย่างมากรวมถึงสถานะทางการเงินที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญของบริษัทซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากผลการดำเนินงานที่อ่อนแอของธุรกิจก่อสร้าง
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและกระแสเงินสดที่มั่นคงของธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัท ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากความเป็นวงจรขึ้นลงของธุรกิจก่อสร้างลงได้อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตลดทอนลงจากความไม่แน่นอนของปริมาณและความผันผวนของราคาวัตถุดิบเชื้อเพลิงที่ใช้ป้อนโรงไฟฟ้าชีวมวล ตลอดจนความท้าทายที่เพิ่มสูงขึ้นในธุรกิจผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันที่ไม่สูงนักของบริษัทและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจก่อสร้างด้วย
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
- ผลการดำเนินงานที่อ่อนแอของธุรกิจก่อสร้าง แม้ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะเป็นศูนย์กลางกำไรของบริษัท แต่ธุรกิจก่อสร้างก็ยังสร้างรายได้ประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้ของบริษัท ผลการดำเนินงานในภาพรวมของบริษัทจึงยังคงได้รับอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญจากธุรกิจก่อสร้างซึ่งมีอัตรากำไรต่ำ ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทมีกำไรลดลงจากผลการดำเนินงานของธุรกิจก่อสร้างที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้มาก โดยอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจก่อสร้างลดต่ำลงจนติดลบ 12% เมื่อเทียบกับที่เคยกำไรในระดับ 6%-12% ในอดีต บริษัทประสบปัญหาต้นทุนก่อสร้างสูงกว่าที่คาดในบางโครงการซึ่งเกิดมาจากหลากหลายปัญหา เช่น ราคาเหล็กปรับขึ้นอย่างมาก ผู้รับเหมาช่วงที่บริษัทจ้างมีผลงานที่ไม่ดีนัก และอุปสรรคในการทำงานที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) นอกจากนั้น บริษัทยังเข้าร่วมประมูลงานที่มีการแข่งขันสูงในหลายโครงการอีกด้วย
ในอนาคต ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจก่อสร้างจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นจากการที่บริษัทสามารถปรับแก้งานที่ผู้รับเหมาช่วงทำไว้ก่อนหน้าได้ รวมถึงการขยายไปสู่งานประเภทที่มีการแข่งขันน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจก่อสร้างจะยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 5% โดยอัตรากำไรที่ค่อนข้างบางของงานก่อสร้างที่รอรับรู้รายได้ประกอบกับสภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นจะยังคงกดดันผลการดำเนินงานของธุรกิจก่อสร้าง และเมื่อรวมธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่มีกำไรสูง อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทน่าจะอยู่ระหว่าง 10%-20% ในช่วงปี 2564-2566 ลดลงจากระดับที่มากกว่า 20% ในอดีต
- ธุรกิจก่อสร้างมีความสามารถในการแข่งขันไม่สูงนัก อันดับเครดิตสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันที่ไม่สูงนักของบริษัทในธุรกิจก่อสร้างภายในประเทศ โดยธุรกิจดังกล่าวมีขนาดค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับผู้รับเหมาก่อสร้างรายอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้ง มูลค่าสัญญาก่อสร้างของบริษัทอยู่ในระดับไม่เกิน 1 พันล้านบาทต่อสัญญาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่รายได้จากการก่อสร้างนั้นอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านบาทต่อปี บริษัทมีขอบเขตงานก่อสร้างที่จำกัดโดยเน้นเฉพาะงานก่อสร้างอาคาร เช่น โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย โรงแรม และศูนย์การค้า
ทริสเรทติ้งยังคงมีมุมมองในด้านบวกต่อธุรกิจก่อสร้างภายในประเทศในระยะปานกลางเมื่อพิจารณาถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องของภาครัฐในการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยทริสเรทติ้งมองว่าการใช้จ่ายโดยรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจจะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั้งนี้ การก่อสร้างภาครัฐน่าจะมีแนวโน้มที่สดใสกว่าการก่อสร้างภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าอย่างต่อเนื่องของการเปิดประมูลโครงการภาครัฐและการแข่งขันที่เข้มข้นระหว่างผู้รับเหมาด้วยกันนั้นยังคงมีอยู่ โดยโครงการส่วนใหญ่จำเป็นต้องประมูลแข่งขันกันซึ่งจะจำกัดอัตรากำไรของผู้รับเหมา นอกจากนี้ การแพร่ระบาดระลอกใหม่ก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการก่อสร้างอีกด้วย บริษัทมีเป้าหมายที่จะขยายงานไปสู่งานก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีผลงานที่จำกัดในด้านงานก่อสร้างประเภทนี้และยังต้องแข่งขันกับผู้รับเหมาอีกเป็นจำนวนมากด้วย
- กระแสเงินสดที่มั่นคงจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า อันดับเครดิตของบริษัทขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดที่มั่นคงอย่างมากของธุรกิจผลิตไฟฟ้าเป็นสำคัญ โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้าน่าจะยังคงสร้างกำไรในสัดส่วนมากกว่า 90% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัท ทั้งนี้ กระแสเงินสดที่มั่นคงที่เกิดจากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับผู้ผลิตและผู้จ่ายกระแสไฟฟ้าที่เป็นหน่วยงานภาครัฐนั้นช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของกำไรของธุรกิจก่อสร้างได้เป็นอย่างมาก
ธุรกิจผลิตไฟฟ้าบริหารงานโดย บมจ. ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลักที่สร้างกำไรให้แก่บริษัท ปัจจุบันบริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง มีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ดำเนินการแล้วจำนวน 10 แห่ง โดยมีกำลังการผลิตรวมตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอยู่ที่ 98.5 เมกะวัตต์ และปัจจุบันกำลังทำการเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้นเพื่อขยายขนาดของธุรกิจผลิตไฟฟ้า
ในการนี้ TPCH จะเพิ่มกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอีกจำนวน 13.7 เมกะวัตต์จากโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่อยู่ในแผน ซึ่งประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล 2 แห่ง (5.7 เมกะวัตต์) และโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ 1 แห่ง (8 เมกะวัตต์) โดยทุกโครงการดังกล่าวประสบปัญหาการก่อสร้างล่าช้าจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่งบลงทุนยังคงอยู่ภายใต้การควบคุม โครงการเหล่านี้มีแผนจะเปิดดำเนินการภายใน 1 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 112.2 เมกะวัตต์ นอกเหนือจากกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นจากโครงการใหม่ภายใต้แผนของบริษัทแล้ว ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะเพิ่มกำลังการผลิตใหม่อีกจำนวน 6 เมกะวัตต์ในช่วงประมาณการอีกด้วย
- ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของโรงไฟฟ้า โรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โดยอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของโรงไฟฟ้าทุกแห่งรวมกันทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 40%-50% ยกเว้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ทั้งนี้ TPCH ประสบปัญหาการดำเนินการที่ไม่ราบรื่นของโรงไฟฟ้าใหม่ในช่วงเริ่มต้นโดยมีสาเหตุมาจากความยากลำบากในการบริหารจัดการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งเชื่อว่า TPCH จะสามารถปรับปรุงการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าใหม่ดังกล่าวให้นำมาซึ่งกระแสเงินสดที่มีความมั่นคงและมีจำนวนมากพอที่จะชดเชยกับธุรกิจก่อสร้างที่อ่อนแอ
- การเติบโตขับเคลื่อนโดยธุรกิจผลิตไฟฟ้า ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะยังคงขับเคลื่อนการเติบโตให้แก่บริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยทริสเรทติ้งมีสมมติฐานประมาณการพื้นฐานว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับ 5.7 พันล้านบาทในปี 2566 จาก 4.4 พันล้านบาทในปี 2564 โดยรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.6 พันล้านบาทในปี 2566 จาก 2.7 พันล้านบาทในปี 2564 ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากธุรกิจก่อสร้างของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 1.7-2.1 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566 โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่าบริษัทจะได้รับงานก่อสร้างมูลค่าปีละ 1-1.5 พันล้านบาท ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีงานที่รอรับรู้รายได้มูลค่า 2.7 พันล้านบาทซึ่งจะช่วยประกันรายได้ในช่วงปีประมาณการได้ส่วนหนึ่ง
ทริสเรทติ้งยังคาดการณ์ด้วยว่ารายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยบริษัทมีจำนวนสินค้าที่อยู่อาศัยเหลือขายอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2564 ทริสเรทติ้งไม่คิดว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเติบโตอย่างรวดเร็วเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มตลาดที่ค่อนข้างอ่อนแอ บริษัทวางแผนจะเปิดตัวโครงการใหม่ในปี 2565 แต่แผนการเปิดตัวจะขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด
ในภาพรวมนั้นทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 10%-20% ในช่วงปี 2564-2566 ซึ่งจะทำให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายน่าจะอยู่ที่ระดับ 0.5-1.1 พันล้านบาทต่อปีและเงินทุนจากการดำเนินงานน่าจะอยู่ที่ระดับ 300-800 ล้านบาทต่อปี
- ความเสี่ยงจากปริมาณและราคาของวัตถุดิบเชื้อเพลิง TPCH ยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากขาดแคลนวัตถุดิบและความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงชีวมวล โดยวัตถุดิบหลักของโรงไฟฟ้าชีวมวลนั้นได้มาจากเศษวัสดุทางการเกษตรที่เหลือทิ้ง เช่น ไม้สับ แกลบ กะลามะพร้าว และพืชอื่น ๆ ที่เติบโตเร็ว ความเพียงพอของปริมาณวัตถุดิบนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ฤดูกาล การใช้ชีวมวลในอุตสาหกรรมอื่น และการเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าชีวมวล ผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลที่ไม่มีวัสดุเหลือทิ้งจากไร่นาเป็นของตนเองจำเป็นจะต้องแย่งชิงวัตถุดิบเชื้อเพลิงกับผู้ประกอบการรายอื่น นอกจากนี้ ราคาของวัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวมวลนั้นยังเคลื่อนไหวขึ้นและลงได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งยังแปรเปลี่ยนไปตามความชื้นและค่าความร้อนอีกด้วย
TPCH ได้จัดจ้างผู้รับเหมาเพื่อให้บริการเดินเครื่องและบำรุงรักษา แต่จะเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการวัตถุดิบของโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่เอง ส่งผลให้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านวัตถุดิบ เนื่องจาก TPCH ไม่มีวัสดุเหลือทิ้งจากไร่นาเป็นของตนเอง บริษัทได้ทำสัญญาซื้อขายวัตถุดิบระยะยาวกับผู้จำหน่ายท้องถิ่นเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีวัตถุดิบที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม การบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญายังเป็นความเสี่ยงที่สำคัญ บริษัทจึงลดความเสี่ยงดังกล่าวด้วยการให้ผู้จำหน่ายวัตถุดิบเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทยังได้พัฒนาปลูกพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงของตนเองอีกด้วย
- ตลาดไฟฟ้ามีความท้าทายมากขึ้น ทริสเรทติ้งยังคงมีมุมมองว่าการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศมีความท้าทายเพิ่มมากขึ้นเมื่อพิจารณาจากอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ลดลงและการประมูลแข่งขันที่รุนแรง การประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่เพิ่งแล้วเสร็จไปมีการแข่งขันที่รุนแรงโดยมีราคารับซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยสำหรับเชื้อเพลิงชีวมวลที่ 2.7972 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง นอกจากนี้ กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศที่อยู่ในระดับสูงและความต้องการไฟฟ้าที่ลดลงจากผลกระทบของโรคโควิด 19 ยังเป็นปัจจัยด้านลบต่อการเติบโตของธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ จึงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นแนวโน้มของอุตสาหกรรมจึงน่าจะเป็นการควบรวมกิจการหรือการขายกิจการโครงการโรงไฟฟ้าที่มีอยู่
ทริสเรทติ้งคาดว่า TPCH จะมีอัตรากำไรลดลงในระยะยาว โดยโรงไฟฟ้าบางแห่งของบริษัทประกอบด้วย TPCH 1 TPCH 2 และ TPCH 5 นั้นอยู่ภายใต้ระบบการประมูลแข่งขันซึ่งทำให้ราคาจำหน่ายไฟฟ้าลดต่ำลง บริษัทจึงจำเป็นจะต้องเพิ่มความรัดกุมในการควบคุมต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าให้มากยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งนี้ การลงทุนในโครงการใหม่ ๆ ทั้งที่ต้องเริ่มใหม่ (Green-field Projects) หรือโครงการที่มีอยู่แล้ว (Brown-field Projects) อาจให้ผลตอบแทนลดต่ำลงอันเนื่องมาจากราคาจำหน่ายไฟฟ้าที่ต่ำหรือต้นทุนในการซื้อโครงการที่สูง
- สถานะทางการเงินอ่อนแอลง TPCH ให้การค้ำประกันหนี้ของกิจการร่วมค้าตามสัดส่วนการถือหุ้นในกิจการร่วมค้านั้น ๆ ดังนั้น ในการพิจารณาสถานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท ทริสเรทติ้งจึงได้รวมเอาสินทรัพย์ หนี้สิน และผลการดำเนินงานของกิจการร่วมค้าเข้ามารวมกับงบการเงินรวมของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้นของ TPCH ในกิจการร่วมค้าแต่ละแห่งด้วย
เมื่อเทียบกับคาดการณ์ก่อนหน้าของทริสเรทติ้ง สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากจากระดับการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นและกระแสเงินสดเมื่อเทียบกับภาระหนี้สินที่ลดลง ในอนาคตทริสเรทติ้งไม่คิดว่าบริษัทจะขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้ามากจนเกินไป ดังนั้นกระแสเงินสดจากโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วจะใช้สนับสนุนการขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมได้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนสำหรับธุรกิจก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มขึ้นของระดับการก่อหนี้ โดยคาดว่าเงินลงทุนต่อปีน่าจะอยู่ที่ 1-1.6 พันล้านบาทในช่วงปี 2564-2566
จากสมมติฐานพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ประมาณ 10 เท่าในปี 2564 จาก 6.7 เท่าในปี 2563 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินน่าจะลดลงเหลือเพียง 5.5% ในปี 2564 จาก 12.5% ในปีก่อนหน้า หลังจากนั้นแล้วอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายน่าจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 6 เท่าและอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินน่าจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 11%-12% ได้ในช่วงปี 2565-2566 ทั้งนี้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นและทรงตัวอยู่ในระดับประมาณ 60% ในช่วงปี 2564-2566 จาก 51% ในปี 2563
- โครงสร้างหนี้ ในการวิเคราะห์ระดับหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) ทริสเรทติ้งไม่ได้รวมหนี้ของกิจการร่วมค้าที่บริษัททีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง ให้การค้ำประกัน ทั้งนี้ หนี้เงินกู้รวมของบริษัทมีจำนวนทั้งสิ้น 4.6 พันล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งเกือบทั้งหมดถือเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน ประกอบด้วยหนี้ที่มีหลักประกันของบริษัทและหนี้ทั้งหมดของบริษัทย่อย ทำให้อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 99% ซึ่งส่งผลให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันมีความด้อยสิทธิ์กว่าเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพิจารณาจากสิทธิ์เรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัท
- สภาพคล่องสามารถจัดการได้ บริษัทมีหนี้ระยะสั้นและหนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้ารวมกันทั้งสิ้นจำนวน 1.6 พันล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2564 โดยทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถจัดการหนี้ระยะสั้นซึ่งใช้สำหรับกิจกรรมก่อสร้างเป็นหลักได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ บริษัทมีวงเงินกู้ยืมที่ยังไม่ได้เบิกใช้รวมทั้งเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดรวมกันจำนวน 468 ล้านบาท เงินทุนจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาท
ขณะที่ TPCH เพิ่งออกหุ้นกู้ชุดใหม่มูลค่า 1.5 พันล้านบาทในเดือนกันยายน 2564 ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่าสภาพคล่องของบริษัทน่าจะบริหารจัดการได้
บริษัทไม่มีข้อกำหนดทางการเงินสำหรับวงเงินกู้ที่มีกับธนาคาร อย่างไรก็ตาม บริษัทย่อยและกิจการร่วมค้าของ TPCH มีข้อกำหนดในการดำรงอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ไว้ไม่น้อยกว่า 1.1 เท่าหรือ 1.2 เท่าและต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ไม่เกิน 1.2 เท่า 1.5 เท่า หรือ 2.5 เท่า นอกจากนี้ หุ้นกู้ชุดใหม่ของ TPCH ยังมีข้อกำหนดในการดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อทุนไม่เกิน 2.5 เท่าอีกด้วย ทริสเรทติ้งคาดว่า TPCH รวมถึงบริษัทย่อยและกิจการร่วมค้าของ TPCH จะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวตลอดช่วง 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้าได้?
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาของโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วของ TPCH จะเพิ่มขึ้นเป็น 118 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า
- มูลค่าสัญญางานก่อสร้างใหม่จะอยู่ที่ 1-1.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566
- อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจก่อสร้างจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 5%
- อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะอยู่ในช่วง 10%-20%
- เงินลงทุนรวมจะอยู่ในช่วง 1-1.6 พันล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะยังคงเป็นธุรกิจหลักที่สร้างกระแสเงินสด รวมถึงสามารถฟื้นตัวและสร้างกระแสเงินสดจำนวนมากให้แก่บริษัทได้ตามที่วางแผนไว้ นอกจากนี้ บริษัทน่าจะสามารถเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจก่อสร้างและบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีระดับการก่อหนี้และกระแสเงินสดเมื่อเทียบกับภาระหนี้สินอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของธุรกิจก่อสร้างและ/หรือธุรกิจผลิตไฟฟ้าปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากผลการดำเนินงานของธุรกิจก่อสร้างและ/หรือธุรกิจผลิตไฟฟ้าต่ำกว่าประมาณการเป็นอย่างมาก หรือโครงสร้างเงินทุนของบริษัทด้อยลงจากการลงทุนด้วยการก่อหนี้จำนวนมาก