AOT คาดการบินกลับมาปกติในปี 66 ลุ้นจีนเปิดเดินทางกลางปี 65 รับเอเชี่ยนเกมส์

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 29, 2021 18:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

AOT คาดการบินกลับมาปกติในปี 66 ลุ้นจีนเปิดเดินทางกลางปี 65 รับเอเชี่ยนเกมส์

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. กล่าวว่า ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด?19 สนามบินทั้ง 6 แห่งของทอท. รองรับผู้โดยสารที่ 142 ล้านคน /ปี ขณะที่ประเมินปีงบประมาณ 2565 ว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารรวมอยู่ที่ประมาณ 62 ล้านคน โดยปี 2565 ถือว่าเป็นปีที่สำคัญอุตสาหกรรมการบิน โดยมี 3 จุดใหญ่ที่ต้องจับตา คือ จุดที่ 1. การเปิดประเทศ ในวันที่ 1 พ.ย. 2564 จะเป็นการเช็กสถานะของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการบิน ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีมาตรการลดหย่อนต่างๆ หรือพักชำระหนี้ ว่าผู้ประกอบการเหล่านั้น จะมีความพร้อมกลับมาให้บริการอีกครั้งจำนวนแค่ไหน หรือมีเลิกกิจการไปถาวรแล้วเท่าไร

AOT คาดการบินกลับมาปกติในปี 66 ลุ้นจีนเปิดเดินทางกลางปี 65 รับเอเชี่ยนเกมส์

ส่วนการเปิดบินเส้นทางต่างๆ หรือจำนวนผู้โดยสารนั้น ในช่วงเดือนพ.ย.จะยังเพิ่มไม่มากนัก เนื่องจากในการบิน สายการบินจะต้องมีแผนล่วงหน้า ทั้งการขายตั๋ว การจัดการเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนเศษ แต่การประกาสเปิดประเทศใน พ.ย. นี้ เป็นการส่งสัญญาณไปถึงช่วงปีใหม่ 2565 ที่เป็นฤดูท่องเที่ยว คาดว่าสายการบินจะทำการบินมากขึ้น และทำให้มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นไปด้วย

จุดที่ 2 ในเดือน ธ.ค. 2564 หลังจากเปิดประเทศ 1 เดือน คาดว่าสายการบินจะติดตั้งการขายตั๋วล่วงหน้าได้แล้ว แต่ก็อาจจะต้องลุ้นกันอีก เพราะมีหลายปัจจัย เช่น ประเมินว่านักท่องเที่ยวจีนจะยังไม่มามากนักจนกระทั่งหลังตรุษจีน แต่จุดที่จะชี้วัดคือ เดือนก.ย.2565 ซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ โดยคาดว่า จีนจะเริ่มมีการเดินทางช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.2565

จุดที่ 3 เมื่อจีนเปิดให้มีการเดินทาง จะต้องดูว่าแต่ละอุตสาหกรรมการบิน ถึงจุดคุ้มทุนหรือยัง เช่น ทอท.ในฐานะผู้บริหารสนามบิน จะต้องมีจำนวนผู้โดยสารกลัมมาที่ระดับ 50% จึงจะคุ้มทุน สำหรับสายการบิน จุดคุ้มทุน ที่Load Factor ประมาณ 60-70%

นายนิตินัยกล่าวว่า ปัจจัยสำหรับปี 2565 ค่อนข้างมาก ที่ต้องรอดู แต่คาดว่า ในปี 2566 อุตสาหกรรมการบินจะเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ โดยจับตาสถานการณ์ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ คือช่วงเดือนต.ค. 2565-ม.ค. 2566 คาดว่าผลประกอบการน่าจะฟื้นกลับขึ้นมา

สำหรับทอท.สถานการณ์โควิดกระทบต่อการดำเนินงานตั้งแต่ งบประมาณปี 2563 โดย ช่วง 4 เดือนแรก (ต.ค. 62-ม.ค. 63) ยังเป็นช่วงที่ไม่ได้รับผลกระทบ ทำให้ทั้งปีงบประมาณ 2563 ทอท.มีกำไร ราว 5,000 ล้านบาท ส่วนงบประมาณปี 2564 มีผลกระทบจากโควิดทั้งปี ทำให้มีผลขาดทุนเป็นครั้งแรก ส่วนงบประมาณปี 2565 ช่วง 4 เดือนแรก ซึ่งเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว ยังเป็นช่วงที่การบินน้อย แม้จะเปิดประเทศในช่วง 8 เดือนหลังก็ตาม แต่เชื่อว่าไม่สามารถกอบกู้ผลดำเนินการงานขึ้นมาได้

ขณะที่การเปิดประเทศ ในวันที่ 1 พ.ย. 2564 ทอท.มีความพร้อมในการดำเนินการทุก ๆ ด้าน ซึ่งจะต้องปฏิบัติการในรูปแบบ New Normal ที่เน้นการบริการผ่านระบบ IT คือ ลดคน ลดสัมผัส ซึ่งได้มีการนำระบบเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (CUSS) และเครื่อง KIOSK รับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (CUBD) รวมถึง แอปพลิเคชัน AOT โดยในเดือนพ.ย.จะรีแบรนด์เปลี่ยนเป็น โฉมใหม่ "SAWASDEE by AOT" เพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้โดยสารภายใต้แนวคิด สู่การเป็น "Digital Airports สนามบินมีชีวิต"สามารถเช็กสถานะของกระเป๋า ที่จอดรถ ข้อมูลข่าวสารเที่ยวบินต่างๆ ผ่านมือถือ ลดการติดต่อสอบถามกับเจ้าหน้าที่ และยังมีส่วนลดร้านค้าต่างๆ ด้วย

สำหรับประมาณการปริมาณจราจรทางอากาศของสุวรรณภูมิ ในวันที่ 1 พ.ย. 2564 มีสายการบินแจ้งทำการบินเที่ยวบินพาณิชย์ ประมาณ 440 เที่ยวบิน แบ่งเป็นเที่ยวบินภายในประเทศ ประมาณ 230 เที่ยวบิน เที่ยวบินระหว่างประเทศ ประมาณ 110 เที่ยวบิน และเที่ยวบินขนส่งสินค้า ประมาณ 100 เที่ยวบิน โดยเมื่อประมาณการที่ร้อยละ 30 จากความจุของแบบอากาศยาน AOT จึงคาดว่าจะมีผู้โดยสารเดินทางผ่าน ทสภ.จำนวนทั้งสิ้น ประมาณ 30,000 คน แบ่งเป็นผู้โดยสารภายในประเทศ ประมาณ 23,000 คน และผู้โดยสารระหว่างประเทศ ประมาณ 7,000 คน

นายนิตินัย กล่าวว่า สำหรับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) ซึ่งมีพื้นที่กว่า 2 แสนตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 15 ล้านคน/ปี การก่อสร้างอาคารและระบบ APM จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ เดือนก.ค.-ส.ค. 256น โดย คณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. มีมติในการประชุมบอร์ดวันที่ 20 ก.ย. 2564 กำหนดเปิดให้บริการ SAT-1 ในเดือน เม.ย.2566 โดยจะต้องรอให้ปริมาณผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิจะเริ่มกลับมาในระดับระดับ 80% เมื่อเทียบกับขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารหลักที่รองรับได้ 45 ล้านคน/ปี หรือมีผู้โดยสารที่ประมาณ 35 ล้านคน/ปี จึงจะเปิดให้บริการ SAT-1 เนื่องจากอาคาร SAT-1 มีค่าใช้จ่ายประมาณ 331 ล้านบาท/เดือน หรือราว 4,000 ล้านบาท/ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ